นายกฯใช้ ม.44 ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน13คน -สั่งทำประกันเพิ่ม เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงพักใบอนุญาตผู้ประกอบการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560/ เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ระบุว่าเนื่องจากในปัจจุบันการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถตู้โดยสาร ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง แต่โดยที่มาตรการในการควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับต่อความปลอดภัย
ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดได้ จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันซึ่งมีผู้โดยสารสัญจรเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสภาพของรถโดยสาร การควบคุมผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วน อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อประโยชน์ต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินทางของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 35 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด
ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ
พร้อมทั้งบันทึกการตรวจสอบดังกล่าว และใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง รวมทั้งต้องจัดทำรายงาน
การขนส่งและรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่
อธิบดีประกาศกำหนด”
ข้อ 2 ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ
ระงับใช้รถหรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกินหกเดือน เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
(1) เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการขนส่งอันกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการขนส่ง โดยมี
สาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่กฎหมาย
กำหนด ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาท หรือขับรถในขณะที่ร่างกาย
หรือจิตใจหย่อนความสามารถ
(2) ผู้ประกอบการขนส่งปล่อยปละละเลยให้มีการนำรถไปใช้กระทำความผิด เช่น ความผิด
เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี
(3) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทำให้มี
การบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทอดทิ้งผู้โดยสาร หรือเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด
ข้อ 3 ให้กรมการขนส่งทางบกควบคุมผู้ให้บริการระบบติดตามรถสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะและระบบการทำงานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถผู้ให้บริการระบบติดตามรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้วันละไม่เกินห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
ข้อ 4 ให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรถประจำทางและไม่ประจำทาง
ประเภทรถตู้โดยสาร เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งดำเนินการโดยเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
(1) การติดตั้งถังบรรจุก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวต้องไม่ทำให้น้ำหนักรถ
รวมน้ำหนักบรรทุกเกินสมรรถนะของรถ
(2) การติดตั้งหรือการปรับปรุงแก้ไขตัวรถและเครื่องอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้รถ
และการเดินทาง โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถออกจากตัวรถได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เมื่อมีกรณีจำเป็น
หรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น การแก้ไขกลไกเปิดประตูหลัง การเพิ่มขนาดหน้าต่าง การปรับปรุงพนักพิงเบาะหลัง
เพื่อให้พับได้และใช้เป็นทางออกฉุกเฉิน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
(3) กำหนดจำนวนที่นั่งผู้โดยสารให้มีจำนวนที่เหมาะสมและปลอดภัยกับการบรรทุกและขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งต้องไม่เกินสิบสามที่นั่ง
ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอก ให้รถตามกฎหมาย
ว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์จัดให้มีการทำประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติมจาก
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นเงื่อนไข
สำหรับการรับจดทะเบียนหรือรับชำระภาษี
ประเภทรถที่ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมและวงเงินคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอก
ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
ข้อ 6 ให้กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก
พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังมีผลใช้บังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะมีประกาศ
ที่ออกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้
ใช้บังคับแทน ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวให้ใช้บังคับได้เป็นเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ
ข้อ 7 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย
ว่าด้วยการขนส่งทางบก ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำ
ความผิดหรือมีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้
ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ หรือมีการแสวงหา
ผลประโยชน์โดยการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ให้ผู้บังคับบัญชา
ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพิจารณาดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
ข้อ 8 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image