โรงเรียนนานาชาติในไทยบานสะพรั่ง เปิดลีสต์ไฮโซ ตระกูลดัง ใครบ้างเป็นเจ้าของ?
ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ได้เผยแนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยยังคงเติบโตสวนทางกับจำนวนนักเรียนและโรงเรียนในไทย ที่มีการหดตัวตามแนวโน้มของสถิติการเกิดที่ลดลง ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ปกครองที่มีศักยภาพในการลงทุนด้านการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ความนิยมของโรงเรียนนานาชาติมีการเติบโต อีกปัจจัยหนุน คือ คาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571
ผลจากภาพรวมจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ในระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิด
การทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลลดลงเฉลี่ย 0.6% ต่อปี โรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี ขณะที่โรงเรียนนานาชาติเติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี โดยคาดว่ามูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยปี 2567 จะเติบโต 13% จากปี 2566 แตะ 87,000 ล้านบาท
“สุรเชษฐ กองชีพ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลากธุรกิจขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ทั้งธุรกิจอสังหาริทรัพย์ที่ต้องการหาน่านน้ำใหม่ กลุ่มธุรกิจ-นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอย่างอื่นมาแล้ว เพื่อรองรับกลุ่มต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาดี และครอบครัวคนไทยมีลูกกันลดน้อยลง
โดยกลุ่มธุรกิจ หรือตระกูลดังที่มีการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติของตนเอง
1.กลุ่มธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช โดย”ชาลี โสภณพนิช” ผู้ก่อตั้งบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ได้ลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ และพัฒนาโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีย่านพระราม9 เพื่อรองรับรายได้จากการศึกษา
2.กลุ่มซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ โดย 1 ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทย มามากกว่า 20 ปี คือ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน โดยเป็นการลงทุนส่วนตัวของ”วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์”
3.กลุ่มบีทีเอสของตระกูลกาญจนพาสน์ นอกจากรถไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ซึ่งใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เปิดเมื่อปี 2563 มีบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือร่วมทุนกับบริษัทฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากประเทศฮ่องกง
4.กลุ่มสหพัฒน์ของตระกูลโชควัฒนา เจ้าของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษา ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพ เมื่อปี 2563
5.กลุ่มปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเด่นหล้า เข้าสู่ธุรกิจนี้มานานกว่า 10 ปี และยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงทุน 600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติ DLTS รองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น
6.ตระกูลธรรมวัฒนะ ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้เช่นกัน โดยบริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด และบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการร่วมลงทุนของ 2 พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ ด้วยวงเงิน 1,200 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล
7.กลุ่มอัสสกุล โดยบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีเพียงธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ยังลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ที่เขาใหญ่และกรุงเทพอีกด้วย
8.บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด ที่มี”เพ็ญสิริ ทองสิมา” เป็นผู้บริหาร ก็ได้เปิดโรงเรียนนานาชาติเบซิส ย่านพระราม 2 ร่วมกับบริษัท บีไอเอสบี จำกัด จากสหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท
9.ตระกูลทีปสุวรรณโดย“ทยา ทีปสุวรรณ”ร่วมกับหุ้นส่วนลงทุน 1,500 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ซึ่งเป็นแบรนด์จากประเทศอังกฤษ บนที่ดินกว่า 200 ไร่ในจังหวัดชลบุรี
10.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ โดยทายาทรุ่นที่ 3 “ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” ซึ่งได้เปิดโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ด้วยหลักสูตรแบบอังกฤษ
11.คันทรี่ กรุ๊ป ของตระกูลเตชะอุบล มีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนถนนพระราม 3 ด้วยมูลค่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งในนี้มีโรงเรียนนานาชาติด้วย
12.กลุ่มอรสิริน โฮลดิ้ง ที่มี”ตระกูลบูรณุปกรณ์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกจากพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแล้ว ล่าสุดกำลังก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติมิลล์ฮิลล์ เป็นแบรนด์จากอังกฤษ จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568
13.กลุ่มสยามกลการของตระกูลพรประภา ผู้บุกเบิกธุรกิจรถยนต์และอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย หลังขยายธุรกิจสู่อสังหาเพื่อเช่า อาคารสำนักงาน“สยามปทุมวัน เฮ้าส์” ล่าสุดกำลังทุ่มเงินก้อนโตลงทุนโรงเรียนนานาชาติที่พัทยา บนพื้นที่ 1,000 ไร่ จับมือกับโรงเรียนไฮเกตแห่งสหราชอาณาจักร คาดเปิดบริการในปี 2569
“อนาคตธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยประเทศไทยปัจจุบันกลายเป็นเซฟโซนและหมุดหมายของชาวต่างชาติ”สุรเชษฐกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี 2 พี่น้อง “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ใหม่-พรรณรจน์ ชลิตอาภรณ์ กับ ทิพ-วรจรรย์ จิราธิวัฒน์ ได้เปิดโรงเรียนนานาชาติเรนทรี( Raintree International School )เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล ปัจจุบันมี 2 สาขา ที่สาทรและสุขุมวิท 26 โดยมี กรณ์ จาติกวณิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
ยังมี“ตระกูลรักตพงศ์ไพศาล” เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ KIS International School มีสาขาแรกที่ย่านเหม่งจ๋าย และสาขา 2 ที่ลำลูกกา คลอง 11 บนเนื้อที่ 150 ไร่ ลงทุน 6,000 ล้านบาท
“กลุ่มตะล่อมสิน” ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก, ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายดวงโคมและอุปกรณ์ไฟฟ้า แตกไลน์เปิดโรงเรียนนานาชาติ “ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล”ย่านพระราม 3 เปิดเทอมแรกเดือนสิงหาคม 2568 นี้