“พิเชฐ” เร่งศึกษา”เรกูลาทอรี่แซนด์บ็อกซ์”สร้างสนามให้สตาร์ทอัพ-แนะอูเบอร์คมนาคมเร่งหาทางออกร่วมชี้ปัญหานี้ต่างประเทศก็มี

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่อง เรกูลาทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Regulatory Sandbox ) เพื่อเป็นสนามให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีไอเดียแปลกใหม่สามารถทดลองดำเนินธุรกิจได้แบบมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ น้อยที่สุด โดยกระทรวงดีอีจะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ พัฒนารูปแบบของแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้ามาทำธุรกิจ โดยแนวคิดนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องเร่งจัดทำแซนด์บ็อกซ์ คือกลุ่มคมนาคมและธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะการหาทางออกร่วมกันระหว่าง อูเบอร์กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อมีการเจรจากันจะมีทางออกที่ดี ทั้งผู้ให้บริการรายใหม่และรายเก่า เพราะปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

“บางกลุ่มธุรกิจอาจจะมีทางออกที่ไม่ผิดกฎหมาย บางกลุ่มธุรกิจอาจมีทางออกเฉพาะ หรือบางทีอาจมีช่องให้ออกกฎหมายลูกก็เป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมาคุยกัน ก็ยังไม่รู้ว่าข้อสรุปที่ได้จะเป็นแบบไหน แต่เชื่อว่าเมื่อได้มีการศึกษาและได้เจรจากันจะมีทางออก กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาใหม่ควรจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และกลุ่มธุรกิจเดิมที่ได้รับผลกระทบก็ต้องปรับตัวให้มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า ทั้งนี้สตาร์ทอัพและแซนด์บ็อกซ์จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ ทั้งเอกชนและภาครัฐมาหารือหาเพื่อร่วมหาทางออกกัน โดยต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันไม่สามารถปิดกั้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะเข้ามาได้ แต่ก็ต้องเข้าใจกฎหมายของแต่ละธุรกิจด้วย เช่น ญี่ปุ่น มีคนธรรมดาเปิดธุรกิจให้เช่าห้องผ่านแอปพลิเคชั่น ถามว่าผิดหรือไม่ ตอบว่าผิดเพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่สั่งห้ามหรือจับกุม แต่จะมีการออกหลักเกณฑ์ด้วยการกำหนดระยะเวลาในการให้บริการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image