กางแผนปฏิบัติการ ททท.ปี’68 ดันรายได้ท่องเที่ยวไทย ‘ติดท็อป14โลก’

กางแผนปฏิบัติการ ททท.ปี’68
ดันรายได้ท่องเที่ยวไทย‘ติดท็อป14โลก’

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแผนปฏิบัติการปีงบประมาณ 2568 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และแผนวิสาหกิจ ททท. ฉบับทบทวน ปี 2566-2570 รวมถึงได้ผนวกบทวิเคราะห์ ความท้าทาย และความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำมาสู่การกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานของ ททท.ในปีงบประมาณ 2568 โดย ททท.ได้รับจัดสรรงบประมาณภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2568 จำนวน 6,231.5860 ล้านบาท ซึ่งแผนปฏิบัติการ ททท.ประจำปี 2568 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ททท.ในการประชุมครั้งที่ 8/2567 แล้ว

เป้าหมายปี 2568 ททท.ตั้งเป้าหมายตำแหน่งทางการตลาด เป็นอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 14 ของโลก เป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ หรือด้านการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวรวม 3.05-3.40 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ ทำรายได้ทางการท่องเที่ยว 1.98-2.23 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ มีรายได้ทางการท่องเที่ยว 1.07-0.17 ล้านล้านบาท

ส่วนเป้าหมายด้านการสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว อันดับของดัชนีความภักดีที่มีต่อประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 เทียบเฉพาะประเทศหรือเขตเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในเมืองรองจากการส่งเสริมการตลาดของ ททท. ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดย ททท.ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรสมรรถนะสูง มีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

แนวทางการขับเคลื่อนแผนวิสาหกิจ ททท. ปี 2566-2570 (ฉบับทบทวน 2568) การขับเคลื่อนไปสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า และมุ่งสู่ความยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ ททท.กำหนด 3 วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objective : SO) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติการ ททท. ประจำปี 2568 ประกอบด้วย

SO1 คือ Drive Demand ผ่านยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.1 ขยายฐานนักท่องเที่ยว กลุ่มคุณภาพจากต่างประเทศ 1.2 กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.3 สร้างจุดยืนและเน้นย้ำภาพลักษณ์จุดหมายปลายทางที่มีคุณค่า รับผิดชอบ และมุ่งสู่ความยั่งยืน

ADVERTISMENT

SO2 คือ Shape Supply ได้แก่ 2.1 ส่งเสริมการพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวจากอัตลักษณ์อย่างยั่งยืน 2.2 ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ และผู้ประกอบการสู่ความยั่งยืน 2.3 ผลักดันการพัฒนาสภาพแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว

SO3 คือ Strive for Excellence ได้แก่ 3.1 พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นเลิศ 3.2 ผลักดันการสร้างนวัตกรรมและปรับปรุงการทำงานด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 3.3 พัฒนาการจัดการและบูรณาการข้อมูล และ 3.4 พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากเป้าหมายองค์กร ททท.กำหนดแนวทางการดำเนินงานใน 3 แผนหลัก ได้แก่

1.แผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดในประเทศ ทำการกระตุ้นค่าใช้จ่ายและกระจายการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ เพิ่มค่าใช้จ่ายระหว่างทริปของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยกลุ่มศักยภาพ นำเสนอจุดขายเรื่องราวเสน่ห์ไทยของแต่ละภูมิภาค ผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองน่าเที่ยว และการเดินทางท่องเที่ยวจากช่วงวันหยุดไปวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) นำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยว ที่ได้รับมาตรฐานหรือเกณฑ์ความยั่งยืนของ ททท. ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ตลอด Tourist Journey

พัฒนามาตรฐานเกณฑ์และเสริมศักยภาพซัพพลายเชนสู่ความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการท่องเที่ยวไทยผ่านการจัดประกวด Thailand Tourism Award (TTA) ครั้งที่ 15 รางวัลที่รับรองมาตรฐาน ของสินค้าการท่องเที่ยวไทยทั้งในมิติด้านคุณภาพการบริการ ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับผลักดันผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชน ให้ได้รับมาตรฐานหรือเกณฑ์ความยั่งยืนของ ททท. อาทิ STGs และ CF Hotels เพิ่มมากขึ้น และประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว ยั่งยืน รวมถึงเสริมศักยภาพ ให้คำปรึกษา และสร้างเครือข่ายแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านช่องทาง TAT Academy

สร้างสรรค์สินค้าและยกระดับความสามารถการแข่งขันของห่วงโซ่คุณค่า จัดทำฐานข้อมูลของสินค้าและบริการเส้นทางท่องเที่ยวยั่งยืนพร้อมขายสำหรับนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ร่วมกับพันธมิตร ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวยั่งยืนต้นแบบ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท่องเที่ยวไทยจากอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมถึงพัฒนากิจกรรม เทศกาล ประเพณีที่คำนึงถึงองค์ประกอบความยั่งยืนและสอดคล้องกับพฤติกรรม ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทย

สร้างกระแสการเดินทางอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สื่อสารการตลาดกระตุ้นให้ชาวไทยสามารถตัดสินใจออกเดินทางทันทีผ่านแคมเปญ “สุขทันที…ที่เที่ยวไทย” ควบคู่กับสร้างกระแสการท่องเที่ยว เมืองน่าเที่ยวตามความชื่นชอบในอัตลักษณ์ของพื้นที่ อีกทั้งสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) ในกลุ่มชาวไทย และ Supply Chain ในอุตสาหกรรมโดยการสนับสนุน ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืน และพัฒนาสื่อดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ให้เป็นคู่มือหรือแนวทางในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

2.แผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ ททท.มุ่งเน้นการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศคุณภาพ ด้วยการนำเสนอเมืองน่าเที่ยว เสน่ห์ไทย และสินค้าท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนเป็นไฮไลต์โปรดักต์ โดยมีแนวทางการส่งเสริมตลาดระยะไกล ด้วยการเจาะกลุ่มพื้นที่ตลาดใหม่ และขยายฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีความหมาย และใส่ใจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมสานต่อการผลักดันการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ (Ease of Traveling) และการเปิดหรือเพิ่มเที่ยวบินจากตลาดคุณภาพมายังประเทศไทย

ส่วนตลาดระยะใกล้ เน้นเจาะกลุ่มนิวเจน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้การท่องเที่ยวประเทศไทย กระตุ้นความถี่และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการจัด Overland Trip ให้กับกลุ่มที่ชื่นชอบ การขับรถเที่ยวหรือคาราวาน เพื่อสร้างการรับรู้ในศักยภาพการท่องเที่ยวเชื่อมโยงทางบกของไทย ซึ่งในปี 2568 จะกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญ Amazing Thailand : Your Stories Never End สอดแทรกเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างผนวกกับซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพของไทย สุขอนามัย ความปลอดภัย และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

และ 3.แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการองค์กร พัฒนา ททท. สู่องค์กรสมรรถนะสูงตามเป้าหมายของแผนวิสาหกิจ ททท. ปี 2568-2570 รวมทั้งดำเนินการตามกรอบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (Core Business Enablers) เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงให้กับการดำเนินงานส่งเสริมการตลาดตามภารกิจหลัก โดยจะพัฒนาศักยภาพและบริหารทรัพยากรบุคคลให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง บริหารจัดการข้อมูลและปรับเปลี่ยนการทำงานด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งเสริมการบูรณาการ การกำกับกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาการทำงานตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (Core Business Enablers) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงการตรวจสอบ กำกับ และให้คำปรึกษาเพื่อให้บุคลากรดำเนินงานภายใต้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่กำกับดูแลการทำงานขององค์กร ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงติดตามและรายงานผลการดำเนินงานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image