สุริยะ สั่งทุกหน่วยงานเดินหน้าโปรเจกต์สำคัญ เผยยอดเบิกจ่ายสะสมยังคงใกล้เคียงแผน
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายครั้งที่ 1/2568 เบื้องต้นตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเบิกจ่ายการประมูลและลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความกังวลถึงภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2568 ที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังต่ำกว่าแผนทุกกระทรวง รวมวงเงินทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท
นายสุริยะ กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ของกระทรวงคมนาคม ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 244,576.97 ล้านบาท โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคม ได้เบิกจ่ายสะสมแล้วรวม 39,857.94 ล้านบาท หรือ 16.30% ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายสะสมที่ 53,018.31 หรือ 21.68% ขณะที่ผลการเบิกจ่ายด้านการลงทุน ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 อยู่ที่ 28,081.82 ล้านบาท หรือ 13.23% ใกล้เคียงกับแผนที่ตั้งไว้ ส่วนเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมไว้ที่ 38,391.62 หรือ 21.68%

ทั้งนี้ นายสุริยะ กล่าวว่า ตามนโยบายของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเร่งการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าเพื่อใช้สำหรับการลงทุนดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตนจึงได้สั่งการให้ กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าติดตามทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบทุกการดำเนินงานในทุกโครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยในภาพรวมของการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2568 ที่สำนักงบประมาณอนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดยังต่ำกว่าแผน ล่าสุดรวมทุกกระทรวง ยังต่ำกว่าแผนประมาณ 50,000 ล้านบาท
แต่ในส่วนของผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2568 ที่มียอดรวมทั้งสิ้น 89,755.88 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 มียอดเบิกจ่ายสะสมรวม 28,429.72 ล้านบาท หรือ 31.67% ดีกว่าแผนที่ตั้งไว้ ที่ 26,671.28 ล้านบาท หรือ 29.72% โดยภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมรวม 33,593.29 ล้านบาท หรือ 37.43%
ทั้งนี้ นายสุริยะ เผยว่า สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดเปิดประมูลภายในปี 2568 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 134,199 ล้านบาท ได้แก่
- โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
- โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 (มอเตอร์เวย์ M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน มูลค่าลงทุน 31,358 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กม.วงเงินลงทุนโครงการ 56,035 ล้านบาท
- โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร วงเงิน 15,176 ล้านบาท