คิกออฟ ‘ซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย’ ดึงทั่วโลกเกาะขอบรันเวย์

รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างชาติ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ชัดเจน และมีชื่อเสียงทั้งด้านอาหาร การแต่งกาย ศิลปะและวัฒนธรรม เครื่องดนตรีฯลฯ รวมถึงเสน่ห์ความเป็นไทยที่สามารถดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิด Soft Power ของประเทศได้อย่างดี

ล่าสุด นายกฯแพทองธารเดินหน้าภารกิจนี้อย่างเต็มที่ด้วยการเปิดทำเนียบรัฐบาลรับ นาโอมิ เอเลน แคมป์เบลล์ แลกเปลี่ยนแนวทางผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย และนางแบบไทยสู่เวทีโลก

กระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหน่วยงานหลักที่ได้รับภารกิจจากนายกฯแพทองธาร ให้เดินหน้าซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นและอาหาร โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับลูกทันทีพร้อมเชื่อมเข้ากับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส ผ่านการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM)

ADVERTISMENT

น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ให้ข้อมูลว่า ดีพร้อมขานรับนโยบาย Soft Power โดยกำลังเดินหน้านโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ที่นี่มีแต่ให้” พร้อมช่วยผู้ประกอบการยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (Upskill) สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) และสร้างทักษะใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ (New Skill) โดยการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย มีมาตรฐานรับรองทักษะ ผ่านการเพิ่มทักษะเพื่อการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ

ADVERTISMENT

โดยธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น หนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย Soft Power ปัจจุบันรายได้สูงถึง 3.9 แสนล้านบาทจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าแฟชั่น 2 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานราว 7.5 แสนคน และเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ค้าปลีก บริการออกแบบ และโฆษณา

ซึ่งแฟชั่นไทยมีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่เหมือนใคร ผสมผสานวัฒนธรรมและเสน่ห์ของความเป็นไทยเข้ากับเทรนด์แฟชั่นสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะผ้าไหมและผ้าฝ้ายของไทย เป็นผ้าที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและคุณภาพมีหลากหลายชนิด สามารถผสมผสาน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

 

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อน Soft Power ในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมุ่งเน้น 4 สาขา ได้แก่ 1.เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Apparel) 2.อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) 3.หัตถอุตสาหกรรม (Craft) และ 4.ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty)

ปี 2567 ได้เดินหน้า “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น” ผ่านกิจกรรม Upskill-Reskill เป้าหมายสร้างอาชีพให้ประชาชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 20 ล้านตำแหน่ง มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีต่อ 1 ครอบครัว ในระยะเวลา 4 ปี มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 2,000 คน ใน 4 สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งสิ้น 17 หลักสูตรโดยวิทยากรมืออาชีพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (Workshop) ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

หลักสูตรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ การแต่งหน้าแบบมืออาชีพ ที่มีน้องฉัตร ช่างแต่งหน้าคิวทอง เป็นวิทยากร รวมทั้งการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) 10 หลักสูตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้น เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงาน พร้อมทั้งเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คาดผลสำเร็จโครงการจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังดำเนิน “โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล” ก้าวสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย มี SME 4 สาขาแฟชั่นกว่า 50 กิจการเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย 1.การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 2.สร้างองค์ความรู้ด้านการตลาด โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง Influencer และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย

3.การเผยแพร่ภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าแฟชั่น ผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ หรือช่องทางสื่อของ Influencer และ 4.การจัดงานแสดงศักยภาพและสื่อสารภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นภายใต้ชื่องาน ShowPow ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ผู้ประกอบการ SME ได้สร้างยอดขายและการเชื่อมโยงธุรกิจมูลค่าโดยรวมกว่า 10 ล้านบาท เปิดโอกาสให้แบรนด์แฟชั่นไทยพัฒนาไปสู่ Hero Brand ที่มีชื่อเสียง โตไกลได้ระดับสากล

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่นกำหนดแนวทางการดำเนินการส่งเสริม Soft Power สาขาแฟชั่น ในปี 2568 ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่

1.การพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Alliance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น (Upskill & Reskill) จำนวน 400 คน

กลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจแฟชั่น เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ หัตถอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงาม การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) ในอุตสาหกรรมแฟชั่น จำนวน 30 หลักสูตร รวมทั้งการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น

2.การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล (Fashion Identity) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นที่มีรากฐานจากทุนทางวัฒนธรรมไทยให้มีความเป็นสากล ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแฟชั่นในปัจจุบัน

ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นในการสร้างภาพลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสู่การเป็น Hero Brand ระดับสากล จำนวน 100 กิจการ ใน 4 สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งการเชื่อมโยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการจัดงานแสดงสินค้า (Roadshow) หรือนำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ

3.การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างประเทศ (Reinvented Roots, Resilient Futures) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยง จัดการองค์ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้งานหัตถกรรมผ้าสิ่งทอชุมชนระหว่างช่างฝีมือ นักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ

ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอ จำนวน 100 คน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสากล การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการแสดงศักยภาพหัตถกรรมสิ่งทอไทย โดยแสดงผลงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ หรือนำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ

เห็นพลังความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รอเกาะติดแฟชั่นไทยผงาดรันเวย์โลกได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image