เวิลด์แบงก์ คาดศก.ไทยปีนี้โต 2.9% ชี้ เงินหมื่น หนุนจีดีพีโต-ลดอัตราความยากจน

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567 แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการลงทุนที่ฟื้นตัวของภาครัฐและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 โดยการแจก 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.29 ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566 แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควร และปีนี้ยังต้องเผชิญกับกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงานการตามติดเศรษฐกิจ Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567 แรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่าย งบประมาณที่สูงขึ้นและการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน

นอกจากนี้การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับกับความเปลี่ยนแปลงของของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยึดหยุ่นและพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่สูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพอยู่ในอันดับดี ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาบวก จากการส่งออก และการท่องเที่ยวดี เงินเฟ้อต่ำแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควร โดยคาดการณ์ปี 2569 จีดีพีไทยที่ 2.7%

ADVERTISMENT

ความท้าทายหลัก ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งสงครามการค้า และความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยึดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว

น.ส.เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและโครงการโอนเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลต่ออัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.29 ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566

“ประเทศไทยมี ความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”

ทั้งนี้ รายงานของเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า ภาคการท่องเที่ยว จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน จาก 35.3 ล้านคนในปี 2567

การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า มีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.3 จุดร้อยละในปี 2567 อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีต้นทุนทางการคลังสูงถึง 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP

คาดว่าอัตราความยากจนจะลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2568 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโครงการโอนเงิน นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจคาดว่าจะลดลงประมาณ 1.5 จุดตามดัชนีจินี

และ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วน การส่งออกสินค้าคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตามก็ตาม

ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการในการเป็นประเทศรายได้สูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image