เฉลียงไอเดีย : ถอดโมเดล‘ท่าเรือโยโกฮามา’ พลิกโฉม‘ท่าเรือกรุงเทพ’ สู่เมืองอัจฉริยะครบวงจร

เฉลียงไอเดีย : ถอดโมเดล‘ท่าเรือโยโกฮามา’
พลิกโฉม‘ท่าเรือกรุงเทพ’
สู่เมืองอัจฉริยะครบวงจร

“เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” อีกหนึ่งนโยบายเรือธงสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวังจะให้เป็นศูนย์กลางของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

พื้นที่เป้าหมายหลักคือ “ท่าเรือกรุงเทพ” หรือ “ท่าเรือคลองเตย” ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะบูรณาการพื้นที่ท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็น ศูนย์การขนส่งทางเรือหลักขนาดใหญ่ของประเทศไทย และสถานบันเทิงครบวงจร ที่หวังว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ

เวลากว่า 10 ปี ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และมีการทบทวนปรับปรุงแผนมาหลายครั้งเนื่องจากมีปัจจัยติดขัดหลายประการ ทั้งเรื่องชุมชนคลองเตยและการให้บริการท่าเรือเอง

ADVERTISMENT

กระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2568 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับแก้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การท่าเรือดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติมนอกจากให้บริการท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า สามารถตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมทุนกับเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบ “กิจการเกี่ยวเนื่อง” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการท่าเรือ

ADVERTISMENT

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คือการเดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้กลายเป็นท่าเรืออัจฉริยะ ครบเครื่องทั้งด้านประสิทธิภาพการขนส่งสูงสุด มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และ
ยกระดับสู่เขตพิเศษด้านท่องเที่ยว

⦿ดึงเมือง‘โยโกฮามา’ดันไทยฮับภูมิภาค

เปิดศักราชใหม่ 2568 เมื่อเร็วๆ นี้ กทท.บินลัดฟ้าไปยังเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น นำคณะโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงกับท่าเรือเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข

เป้าหมายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ต่อยอดความร่วมมือในด้านการพัฒนากิจการท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการตลาด เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชน โดยเมืองโยโกฮามาจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายเกรียงไกรเล่าว่า การมาเยือนท่าเรือโยโกฮามา ญี่ปุ่น นอกจากต้องการให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาท่าเรือโยโกฮามาควบคู่กับการพัฒนาเมืองแล้ว ยังถือว่าเป็นเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 10 ปี ระหว่างการท่าเรือและเมืองโยโกฮามา โดยได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับใหม่

“เป็นการยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนากิจการท่าเรือเพื่อก้าวสู่การเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือเชิงวิชาการระหว่างกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

เมืองโยโกฮามาจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายกระทรวงคมนาคม รวมทั้งสนับสนุนความช่วยเหลือเชิงวิชาการด้านการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งพัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการตลาดเชิงรุก รองรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในอนาคต

นายเกรียงไกรเล่าว่า ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะ ทำให้มีท่าเรือเล็กใหญ่กว่า 300 ท่า จำนวนนี้มีท่าเรือหลัก 5 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือโตเกียว ท่าเรือโยโกฮามา ท่าเรือนาโกยา ท่าเรือโอซากา และท่าเรือคาวาซากิ

กทท.ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงแล้ว 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือโยโกฮามา ท่าเรือโอซากา ท่าเรือฮากาตะ และท่าเรือคิตะคิวชู โดย กทท.ให้ความสำคัญกับ “ท่าเรือโยโกฮามา” มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นท่าเรือเบอร์ 1 ด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น มีเรือเข้าออก 171 ลำ มีการขนส่งตู้สินค้าเป็นเบอร์ 2 อยู่ที่ 3 ล้านตู้ หรืออันดับ 68 ของโลก ส่วนท่าเรือโตเกียว ขนส่งสูงสุด 4.6 ล้านตู้ หรืออยู่ที่อันดับ 46 ของโลก

ถ้านับทั้งประเทศญี่ปุ่นจะมีการขนสินค้ารวม 22 ล้านตู้ ส่วนท่าเรือแหลมฉบังของไทยมีการขนส่ง 9 ล้านตู้

ตัวชี้วัดสำคัญ 2 ตัวคือ การบริหารหน้าท่าและวัดปริมาณตู้สินค้าที่เข้าออก (CPPI) ญี่ปุ่นอยู่ที่เบอร์ 9 ของโลก และการบริหารจัดการเชื่อมโยงระหว่างท่าและการเชื่อมโยงระหว่างสายการเดินเรือเข้าทำธุรกิจในท่าเรือ (LSCI) เป็นดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมเรือ ญี่ปุ่นอยู่อันดับ 7
ของโลก

⦿‘ท่าเรือโยโกฮามา’ต้นแบบท่าเรือท่องเที่ยว

นายเกรียงไกรเล่าว่า “ท่าเรือโยโกฮามา” มีพื้นที่ประมาณ 18,000 ไร่ ใหญ่กว่าท่าเรือกรุงเทพประมาณ 7-8 เท่า มีอายุถึง 146 ปี จุดเด่นที่น่าสนใจคือ การกันโซนนิ่งชัดเจนว่าเป็นโซนท่าเรือ โซนเรสซิเดนซ์ โซนอุตสาหกรรม และโซนลงทุนใหม่ ไม่มีปัญหากับชุมชน มีการขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเล สร้างท่าเรือใหม่ (มินาโตเมไร) ทำให้มีศักยภาพในการใช้พื้นที่ขนส่งสินค้าผ่านท่าได้มากขึ้น

รวมถึงสิ่งที่ได้เห็นจากเมืองโยโกฮามา คือความยั่งยืนควบคู่กับการทำให้เป็นเมืองทันสมัย เกิดสมาร์ทซิตี้ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้จากญี่ปุ่นคือ การลดมลภาวะ การบริหารจัดการ และการออกแบบพัฒนาปรับปรุงโซนเดิมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่วนใหม่ค่อยขยาย สอดคล้องกับมาสเตอร์แพลนของท่าเรือกรุงเทพที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพท่าเรือเดิมที่มีอยู่

นอกจากนี้ การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ท่าเรือโยโกฮามายังแยกพื้นที่ทำ “โครงการมินาโตเมไร” เป็นการขายที่ดิน แบ่งจัดสรรให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยกันทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ดึงความเจริญจากเมืองหลวงย้ายไปยังเมืองโยโกฮามา ในเขตมินาโตเมไร กว่า 2,000 บริษัท

นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้โยโกฮามาเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งรถไฟ เป็นเบอร์ 3 ของประเทศญี่ปุ่น รองจากชินจูกุ และชิบูยา ทำให้เห็นภาพว่าการทำโลจิสติกส์ไม่ได้ทำแค่การยกขนสินค้า แต่ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหมดสัมพันธ์กับทางขนส่ง เป็นที่มาของการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือ

⦿ทบทวนมาสเตอร์แพลนภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ หลังจากได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการปรับแก้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 กทท.จะเดินหน้าการพลิกโฉมท่าเรือกรุงเทพอย่างเต็มกำลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้

นายเกรียงไกรระบุว่า ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ที่ศึกษามากว่า 10 ปี เพื่อนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นำร่องพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตย ใช้ประโยชน์บนที่ดิน 2,353.2 ไร่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คาดว่ามาสเตอร์แพลนจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน ขอย้ำว่า กทท.ไม่ได้ย้ายท่าเรือคลองเตย เพียงแต่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขนส่งสินค้าให้ใช้พื้นที่ลดลง แต่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลด PM2.5

เบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 1,085 ไร่, พื้นที่พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) 709 ไร่, พื้นที่พัฒนาชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) 123 ไร่ และพื้นที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เช่าใช้ 103 ไร่

โดยผังของ “ท่าเรือกรุงเทพ” ถูกออกแบบใช้งานมาแล้วกว่า 70 ปี จะปรับผังกันใหม่ ให้ส่วนของท่าเรือด้านเขื่อนตะวันออกและเขื่อนตะวันตกพัฒนาเป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port

จากเดิมมีคลังสินค้าและมีการวางตู้สินค้าไม่เป็นระเบียบ ไม่มีประสิทธิภาพ จะปรับให้เรียบร้อย เหมาะสม มีแนวคิดการพัฒนา 4 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าและศูนย์กระจายสินค้า การพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ของท่าเรือโยโกฮามาเป็นหนึ่งในต้นแบบสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Logistics Park) ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศได้ถึง 1.41 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของจีดีพี

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการสร้างงาน ยกระดับภาพลักษณ์ของท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค

2.การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การต่อยอดโครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางพิเศษ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ลดปัญหาจราจรติดขัดรอบพื้นที่ท่าเรือ รองรับการขยายตัวของโครงการชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพิ่มมูลค่าที่ดินของการท่าเรือฯ ลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ

จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจพบว่า โครงการมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ในช่วง 1,187.02-1,528.77 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุน (EIRR) อยู่ระหว่าง 17.99%-19.51% และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.60-1.77 ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน

3.การพัฒนาระบบการให้บริการโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยพัฒนาพื้นที่จุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการจราจร (Truck Q) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น อาทิ ร้านอาหาร ฯลฯ สำหรับรถบรรทุกที่เข้ามารอเวลารับ-ส่งสินค้าจากสายเรือ

4.การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาโครงการท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Passenger Cruise Terminal) บนพื้นที่ 67.41 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ กระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด Eco City หรือที่เรียกว่า เมืองที่มีการพัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ

นายเกรียงไกรระบุด้วยว่า สำหรับสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ภายใต้แผนแม่บทยังไม่ได้กำหนดกิจกรรมในการพัฒนา แต่มีการแบ่งโซนเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ศูนย์โลจิสติกส์ทั้งระบบ ส่วนการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นต้องเป็นประโยชน์กับท่าเรือ รวมถึงเป็นประโยชน์กับประชาชน สนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ ครุยส์เทอร์มินัล

รายละเอียดของโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทพิจารณาดูก่อนว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ให้เหมาะกับประเทศไทย

นายเกรียงไกรระบุว่า เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ท่าเรือฯฉบับใหม่จะทำให้การบริหารกิจการของ กทท.คล่องและทันสมัย เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและสามารถใช้พื้นที่ท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำให้ กทท.ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้ ทั้งลงทุนและเป็นผู้ร่วมทุน ตั้งบริษัทลูกได้ ถือหุ้นได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรือโดยตรง ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ส่วนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) ต้องดูว่าคล่องตัวหรือไม่ ส่วนไหนที่ กทท.ชำนาญอาจจะลงมือดำเนินการเอง อะไรที่ไม่ชำนาญจะให้บริษัทลูกทำกับผู้ร่วมทุน หรืออาจจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น

ประเด็นสำคัญต้องดูผลตอบแทนที่จะได้รับทั้งการเงิน สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม แต่มั่นใจว่าการแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้การหารายได้ใหม่ๆ แน่นอน

โดย พ.ร.บ.ท่าเรือฯถูกออกแบบมากว่า 70 ปีแล้ว แต่บางครั้งอาจมีข้อสงสัยในการนิยามธุรกิจโดยตรงและที่เกี่ยวเนื่อง การแก้ พ.ร.บ.จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าท่าเรือสามารถทำธุรกิจโดยตรงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

“คีย์เวิร์ดอยู่ตรงจะทำให้ท่าเรือมีลูกเล่น ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศมหาศาล ต้องมีแผนมาสเตอร์แพลน ต้องนําเสนอ ครม.ให้เห็นภาพเพื่ออนุมัติให้ดำเนินการ การทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเสริมเขี้ยวเล็บให้กับประเทศไทยทำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร วันนี้ครูซ เทอร์มินอล มีความจําเป็นกับเมืองไทย เพราะว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองจุดหมายเที่ยวเมืองไทย” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรทิ้งท้ายว่า สุดท้ายการพัฒนาต้องอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน กทท.จัดสรรประมาณ 123 ไร่เศษ ถ้าออกแบบดีจะย้ายชุมชนหมื่นกว่าครอบครัวที่อยู่ที่นั่นให้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง สร้างอาชีพ พัฒนาให้เป็นพนักงานป้อนธุรกิจที่จะเกิดใหม่ในเชิงพาณิชย์

เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพและชุมชนเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image