ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
“บ้านเพื่อคนไทย” หนึ่งในโครงการใหญ่ไฟกะพริบของรัฐบาลยุค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ประชาชนต่างยกให้เป็นโครงการความหวังของคนไทย เพราะ “ที่อยู่อาศัย” คือ 1 ใน 4 ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต
รวมถึงการที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้ เป็นโครงการที่จะสานฝันให้คนไทยที่อยู่ในวัยสร้างตัว หรือผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านหลังแรก ในทำเลที่สะดวกและใกล้ขนส่งสาธารณะ
ตั้งแต่วันเปิดตัวโครงการในช่วงเดือนมกราคม 2568 จนถึงปัจจุบัน ได้รับเสียงตอบรับและได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยอย่างล้นหลาม
ถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่ประชาชนต่างลุ้นให้เกิดขึ้นจริงและอยากให้สำเร็จตามที่รัฐบาลได้เสนอไว้ ไม่ต่างกับนโยบายเรือธงอย่าง “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”
⦁ กระแสดี ‘ชี้วัดคนไทยอยากมีบ้าน’
โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมในมิติของที่อยู่อาศัยให้กับประเทศ
นำร่องสำรวจที่ดินที่มีศักยภาพของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน พบว่าที่ดินรอบพื้นที่สถานีรถไฟ หรือมีทำเลที่ตั้งใกล้กับระบบรางที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถมีประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการก่อสร้างและดำเนินการโครงการนี้คือ กระทรวงคมนาคม และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท.
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ จุดเด่นที่น่าสนใจของบ้านเพื่อคนไทยที่รัฐบาลการันตีว่าไม่เหมือนกับโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” โครงการรุ่นพี่ เพราะจะก่อสร้างในพื้นที่ 4 ทำเลทองที่ใกล้กับตัวเมืองและระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ไกลปืนเที่ยงเหมือนบ้านเอื้ออาทร
ทั้ง 4 ทำเลทอง มีดังนี้ ย่านกิโลเมตรที่ 11 ใกล้สำนักงานใหญ่ ปตท. บนเนื้อที่ 15 ไร่ ซอยวิภาวดี 11, บริเวณตลาดศาลาน้ำร้อน ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีทองกับสีส้ม (กำลังก่อสร้าง) 800 เมตร บนเนื้อที่รวม 23 ไร่, ใกล้สถานีรถไฟเชียงราก และ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บนเนื้อที่ 18 ไร่ และที่ดินเปล่าตรงข้ามสถานีรถไฟเชียงใหม่ ถนนเจริญเมือง รวม 15 ไร่
รูปแบบบ้านเพื่อคนไทยมีความพิเศษ เป็นลักษณะบ้านและห้องชุดที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และมีเฟอร์นิเจอร์ครบถ้วน รวมถึงความพิเศษคือ ห้องส้วมระบบไฟฟ้าที่ทันสมัยตอบโจทย์ยุคใหม่ รายละเอียดจะมีคอนโดมิเนียมขนาดห้องพัก ขนาด 30-51 ตารางเมตร และโครงการบ้านเดี่ยว 1 ชั้น ขนาด 50 ตารางเมตร
รัฐบาลกำหนดฤกษ์ดี 17 มกราคม 2568 เปิดตัวโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย ฟีเวอร์” อย่างยิ่งใหญ่ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตูที่ 1
ภาพรวมวันงานเปิดตัว มีประชาชนเดินทางมารอคิวเป็นจำนวนมาก ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตูที่ 1 ราวพันคน เพื่อรอชมบ้าน-ห้องชุดคอนโดมิเนียมตัวอย่าง และรอลงทะเบียนแสดงเจตจำนง หลังจากที่เริ่มเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ ภายใน 1 ชั่วโมง ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาแห่ลงทะเบียนจำนวนมากส่งผลให้เว็บไซต์ล่มชั่วคราว และภายใน 2 ชั่วโมง มีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 20 ล้านคน
หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งที่เข้ามาดูบ้านตัวอย่าง ระบุ รู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลเปิดโครงการที่ดีแบบนี้ ตนเองเดินทางมาจากต่างจังหวัดมารอคิวตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อรอชมบ้านตัวอย่าง และเข้าร่วมแสดงเจตจำนง
จนถึงปัจจุบันยอดแสดงเจตจำนงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดล่าสุดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้เข้าชมเว็บไซต์ 77.1 ล้านครั้ง ผู้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้าร่วม โครงการบ้านเพื่อคนไทย 257,707 คน และผู้ลงทะเบียนที่ผ่านขั้นตอน pre-approve โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 136,069 คน
ทำเลที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ ทำเล กม.11 วิภาวดี เนื่องจากใกล้กับพื้นที่ตัวเมืองในกรุงเทพมหานคร รวมถึงใกล้รถไฟฟ้า
นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากกระแสตอบรับที่ดีมาก ในเร็วๆ นี้จะเปิดพื้นที่ในเฟส 2 อีกประมาณ 10,000 ยูนิต และเฟส 3 เฟส 4 ตามไป มีเป้าหมายภายในปี 2568 จะมีทั้งหมด 100,000 ยูนิต และจะเริ่มส่งมอบให้ผู้ได้รับสิทธิเข้าอยู่อาศัยภายในปี 2569
พื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาจะเน้นที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ มีประชากรหนาแน่น เช่น นครราชสีมา กาญจนบุรี หาดใหญ่ สงขลา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และใช้ระบบรางในการเดินทาง อนาคตระบบทางคู่ รถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จการเดินทางจะสะดวกปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีเสียงสะท้อนถึงข้อกังวล ข้อสังเกต อาทิ กระทรวงคมนาคมมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายไม่มีอำนาจในการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนในโครงการบ้านเพื่อคนไทย เนื่องจากกฎหมายไม่ให้อำนาจ
ประเด็นนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ฝ่ายกฎหมายดูด้วยความรอบคอบแล้วว่าทำได้ และได้มีการปรึกษาหารือกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่ซ้ำรอยโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีการทุจริตแน่นอน
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา คือ การทับเส้นเอกชนวงการอสังหาริมทรัพย์ น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยเป็นนโยบายที่ดี ทำให้คนมีที่อยู่อาศัย มองว่าไม่กระทบต่อตลาด 1-3 ล้านบาทที่เป็นพอร์ตใหญ่ของเสนา เพราะโครงการคนละตลาดและคนละทำเล โครงการของรัฐบาลสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเป็นการเช่า 99 ปี และมีซัพพลายจำกัด
⦁ ส่องความคืบหน้าจับสลากลุ้นสิทธิ
สำหรับความคืบหน้าขั้นตอนการจับสลากพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องใช้เวลาเพราะมีการลงทะเบียนมากกว่าแสนคน
ทั้งนี้ถ้ารายใดผ่าน เข้ากฎเกณฑ์ตามที่นโยบายกำหนด รัฐบาลพร้อมสนับสนุน และได้เตรียมวงเงินสนับสนุนโครงการไว้อยู่แล้ว ระยะแรกของโครงการ ธอส.สนับสนุนแหล่งเงินได้ ล่าสุด ธนาคารออมสินก็ให้ความสนใจในโครงการนี้
ส่วนการปล่อยกู้ในโครงการให้กับประชาชน หรือจะปล่อยกู้ให้กับเอกชนที่เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการนั้น ข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ผู้ลงทุนพร้อมหาแหล่งเงินในการดำเนินโครงการเอง โครงการนี้เมื่อมีคนเข้ามาร่วมโครงการมากก็ไม่ใช่เรื่องยากที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้
สำหรับขั้นตอนการจับสลาก จะดำเนินการตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ และการเลือกห้องพักจะใช้วิธีการจับสลาก 2 รอบ ประกอบด้วย
1.การจับสลากรับสิทธิ จะนำรายชื่อที่ผ่านคุณสมบัติมาจับสลากว่าใครจะได้สิทธิที่อยู่อาศัย และใครจะเป็นสำรอง เบื้องต้นจับสลากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อความโปร่งใสเพราะมีความเชี่ยวชาญจากการออกรางวัล
2.การจับสลากเพื่อเลือกห้องพักหรือตัวบ้าน เมื่อได้รายชื่อผู้ได้รับสิทธิที่อยู่อาศัยแล้ว จะมีการทำสัญญาและก่อนที่จะเข้าพักอาศัยจะมีการจับสลากอีกครั้งเพื่อเลือกห้องพัก ถ้ามีการสละสิทธิจะมีสำรอง 2 รายชื่อ
หากผู้ที่จะรับสิทธิปฏิเสธห้องพักที่จับสลากได้ จะให้ผู้ที่สำรองได้รับสิทธิเข้าอยู่อาศัยแทน
ส่วนกรณีที่ผ่านคุณสมบัติ แต่พลาดจากการจับสลากในเฟสแรก ก็ยังคงมีสิทธิในการเข้าแรนดอมในเฟสต่อๆ ไปได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนทำเลที่ลงทะเบียนไว้ในตอนแรกได้
โดยกระทรวงคมนาคมได้หารือกับทางสลากกินแบ่งรัฐบาล เกี่ยวกับกระบวนการการจับสลากแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดหาวันที่เหมาะสม
⦁ ก่อสร้างยึดระเบียบ ‘เอสอาร์ทีแอสเสท’
สำหรับแผนการก่อสร้างที่คาดว่าจะเริ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) รายงานว่า ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนก่อสร้าง “บ้านเพื่อคนไทย” เอสอาร์ที แอสเสท จะยึดตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง พ.ศ.2565
เป็นระเบียบที่ได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางแล้วไม่ใช่ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในขั้นตอนของการเตรียมศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประกวดราคาจ้างออกแบบโครงการ ในรูปแบบออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ยังระบุช่วงเวลาเปิดประมูลคัดเลือกงานก่อสร้างได้
โดยระเบียบบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง พ.ศ.2565 ระบุไว้ในข้อ 5 ว่า วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง การอนุมัติ สั่งการ และหรือลงนาม เกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริษัทจะมอบอำนาจให้กรรมการผู้จัดการก็ได้
ในกรณีมีการมอบอำนาจให้กรรมการผู้จัดการ ให้กรรมการผู้จัดการมีอำนาจมอบช่วงได้ ตามระเบียบนี้ให้คำนึงถึงระดับ ตำแหน่ง หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในเอกสารระบุเพิ่มเติมว่า ข้อ 17 การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอให้พิจารณาถึงประโยชน์ของบริษัทและวัตถุประสงค์ ของการใช้งานเป็นสำคัญ โดยให้ใช้เกณฑ์ราคาในการคัดเลือก เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความซับซ้อน มีเทคโนโลยีสูง หรือมีเทคนิคเฉพาะ อาจพิจารณาเกณฑ์อื่นประกอบด้วยก็ได้
สำหรับการจ้างที่ปรึกษา ให้พิจารณาเกณฑ์คุณภาพดังนี้ 1.ผลงานและประสบการณ์ของที่ปรึกษา 2.วิธีการบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน 3.จำนวนบุคลากรที่ร่วมงาน 4.ข้อเสนอทางด้านการเงิน และ 5.เกณฑ์อื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
การซื้อ การจ้าง การเช่า ให้กระทำได้ 3 วิธี ดังนี้ 1.วิธีเชิญชวนทั่วไป 2.วิธีเชิญชวนเฉพาะ 3.วิธีตกลงราคา
และข้อ 19 การซื้อ การจ้าง การเช่าโดยวิธีเชิญชวนทั่วไป ให้ประกาศเชิญชวนผู้ค้าเป็นการทั่วไป เพื่อให้ผู้ค้าที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
โดยการซื้อ การจ้าง การเช่า ให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะทำการซื้อ การจ้าง การเช่า จากผู้ค้า และให้เผยแพร่ประกาศ และเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของบริษัท รวมถึงของกรมบัญชีกลางด้วย เป็นไป ตามที่กรรมการผู้จัดการกำหนด
ทั้งนี้ ภายในระเบียบบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง พ.ศ.2565 ระบุไว้เบื้องต้นว่า ในระเบียบนี้ “บริษัท” หมายความว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด “คณะกรรมการบริษัท” หมายความว่า คณะกรรมการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
“กรรมการผู้จัดการ” หมายความว่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และ “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า รวมทั้งการเช่าซื้อ (Hire Purchase) และการเช่าแบบลีสซิ่ง (Leasing) แลกเปลี่ยน รับโอนหรือโดยนิติกรรม อื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท
⦁ คาดหวังผู้รับเหมา ‘เมดอินไทยแลนด์’
เจาะถึงมุมมองของ ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการก่อสร้างของไทย ว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยวงการก่อสร้างไทยอย่างไร
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า หากโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างของประเทศไทย และเน้นผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก หรือใช้วัสดุก่อสร้างจากบริษัทของไทยนั้น แน่นอนว่าวงการผู้รับเหมาไทยจะได้ประโยชน์
ส่วนสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากรัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้น ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ หรือไม่มีข้อบังคับย้ำว่า ผู้รับเหมาต้องใช้วัสดุก่อสร้างที่ “เมดอินไทยแลนด์” เท่านั้น อาจจะเจอปัญหาที่ผู้รับเหมาต่างชาติ หรือผู้ค้าวัสดุที่เป็นชาวต่างชาติ มาฉวยโอกาสแทรกซึมในโครงการนี้ได้
แม้ประชาชนผู้ที่จะได้บ้านอาจจะได้ประโยชน์และเชื่อใจในการใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า แต่ในแง่ของภาคเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงานคนในประเทศ อาจจะได้รับผลกระทบ จากการแทรกซึมของผู้รับเหมาต่างชาติได้
จึงอยากมีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ กำหนดเงื่อนไข หรือขอบกติกาว่า ต้องจ้างผู้รับเหมาไทย หรือใช้วัสดุก่อสร้าง “เมดอินไทยแลนด์” หรือจากผู้ค้าวัสดุไทยเท่านั้น
ขั้นตอนการจับสลาก ไปจนถึงการเลือกผู้รับเหมา น่าติดตามอย่างมาก
หากราบรื่นจะเพิ่มคะแนนนิยมรัฐบาลแบบจุกๆ แน่นอน!!