ไฮสปีดกรุงเทพ-หนองคาย จุดพลุ 4 จังหวัดอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฮับลงทุน

Screenshot

ไฮสปีดกรุงเทพ-หนองคาย จุดพลุ 4 จังหวัดอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฮับลงทุน

รัฐบาลตั้งเป้าหมายภายในปี 2571 ประเทศไทยจะเปิดหวูดรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนสายแรกเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในระยะที่ “กรุงเทพ-นครราชสีมา” ระยะทาง 253 กิโลเมตร

ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 35.75% หลังเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ด้วยวงเงิน 179,413 ล้านบาท มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา

และภายในปี 2575 จะเปิดให้บริการระยะที่ 2 ช่วง “นครราชสีมา-หนองคาย” ระยะทาง 357 กิโลเมตร เงินลงทุน 341,351 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะใช้เวลาสร้าง 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568

ADVERTISMENT

มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และ สถานีหนองคาย โดยมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่นาทา ซึ่งเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ รองรับรถไฟความเร็วสูงของ 3 ประเทศ นั่นคือ จากประเทศไทยที่หนองคายไปเชื่อมรถไฟความเร็วสูงของสปป.ลาวที่เวียงจันทน์ทะลุถึงคุนหมิงประเทศจีน

หากทุกอย่างเดินหน้าตามแผนและไทม์ไลน์ที่วางไว้นั้น จะพลิกโฉมการขนส่งและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

ADVERTISMENT

“สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” ประธานหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 สร้างถึงหนองคาย รวมถึงการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศจีน ยิ่งมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการให้เกิดการก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมาย เฟสแรกในปี 2571 และตลอดสายในปี 2575 ซึ่งจะเป็นการขนส่งคนและขนส่งสินค้า โดยหอการค้าฯก็ต้องเตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติรองรับโครงการ รถไฟความเร็วสูงที่จะนำความเจริญมาสู่ในพื้นที่ ไม่ว่าการพัฒนาคน แรงงานฝีมือ และอุตสาหกรรมใหม่ๆ

“หอการค้าฯ เราจะเร่งผลักดันให้รัฐมีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC ใน 4 จังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย” สวาท กล่าว

สวาท ยังกล่าวอีกว่าในอนาคตรถไฟความเร็วสูงสายอีสานจะไปเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะทำให้ประเทศไทยรวมถึงภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ดังนั้นอย่าให้เป็นแค่มีรถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งภาครัฐต้องมีการ
เตรียมแผนพัฒนาไว้ให้พร้อม เมื่อรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว ต้องคิดต่อไปว่าจะสร้างรายได้อย่างไร เพื่อนำเงินที่ได้มาคืนทุนการก่อสร้างที่รัฐบาลได้ลงทุนไป

“ปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดภาคอีสานอยู่หลายธุรกิจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาคการเกษตรที่อุดรธานีและขอนแก่น” สวาทกล่าว

อย่างไรก็ตาม สวาท ยอมรับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ได้ส่งผลต่อราคาที่ดินในจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางมีการปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้เริ่มปรับตัวลดลงแล้ว จากราคาที่ดินที่เคยดีดขึ้น 100-200% ก็เริ่มดีดลงเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่พฤติกรรมการลงทุนจะนิยมการเช่ามากกว่าการซื้อ รวมถึงนักลงทุนยังมีความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จึงยังไม่กล้าที่จะลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image