ตลท. แง้มหารือคลังเร่งออกมาตรการฟื้นเชื่อมั่นหุ้นไทย พร้อมกางแผน 3 ระยะเร่งด่วน
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ยอมรับว่ามีความผันผวนมากกว่าช่วงปกติ โดย ตลท.ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเบื้องต้น เพื่อหามาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทย อาทิ การเพิ่มเม็ดเงินใหม่ในตลาด ผ่านกองทุนแอลทีเอฟ ว่าจะสามารถนำเม็ดเงินส่วนนี้ขยายไปยังกองทุนไทยอีเอสจีได้ด้วยหรือไม่ อาทิ การพิจารณากลไกใดว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิผลที่สุด มองทั้งมุมของการสนับสนุนความยั่งยืน (อีเอสจี) รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนทางภาษีจะได้ทั้งหมดเหมือนแอลทีเอฟหรือไม่ ส่วนนี้ต้องรอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ให้ประกาศรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง
นายอัสสเดช กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนี้วางไว้ 3 ระยะ เป็นระยะสั้น กลาง ยาว โดยระยะสั้นจะเริ่มดำเนินมาตรการ Co-location ในไตรมาส 2/2568 ปรับให้เป็นบริการพื้นฐานเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ลงทุนทุกกลุ่ม เป็นบริการพื้นฐานที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถใช้บริการฟรี มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าสาธารณูปโภค อาทิ ค่าไฟฟ้า ซึ่งผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้สามารถได้ประโยชน์จากบริการนี้ คาดว่าหลังไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ใช้บริการมากกว่าครึ่งหนึ่ง
นายอัสสเดช กล่าวว่า ระยะกลาง เป็นโครงการจัมพ์พลัส (Jump+) จะเปิดตัวภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นโครงการที่มุ่งเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งหัวใจหลักของโครงการ 4 ด้าน คือ 1.Growth 2.Visibility 3.Incentive และ 4.Trust & Confidence โดยจะมีสิทธิประโยชน์ที่ให้กับบริษัทที่ร่วมโครงการและบริษัทที่สามารถพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ อาทิ การสนับสนุนค่าที่ปรึกษา หรือ FA การโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ หรือการหารือแนวทางสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกำไรที่ทำได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ การสนับสนุนการทำ M&A หรือการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่งขึ้น แข่งขันได้ทั่วโลก เพิ่มประสิทธิผล รวมทั้งลดต้นทุนธุรกิจ
นายอัสสเดช กล่าวต่อว่า ตลท.มีแนวทางที่จะหารือภาครัฐว่าจะสนับสนุนได้อย่างไร รวมถึง Treasury Stock กลไกช่วยให้มูลค่าของกิจการสะท้อนได้อย่างเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือร่วมกับ ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับกฎเกณฑ์ของระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนให้สะดวก คล่องตัว และเหมาะสม โดยศึกษาจากกฎเกณฑ์ของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ ซึ่งหากทั้ง 3 หน่วยงานเห็นพ้องกันก็น่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนระยะยาว เป็นการสนับสนุนให้ไทยเป็น Listing hub แหล่งระดมทุนของบริษัทในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย สร้างความง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business)
“ตลท.มีการศึกษาที่จะไม่คิดภาษีย้อนหลังกับบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น 3 ปี ซึ่งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าไปควบรวมกิจการด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการจัมพ์พลัส แต่ต้องเป็น บจ.ที่ประพฤติดีเท่านั้น เนื่องจากคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตมากขึ้นได้ และหากบริษัทเหล่านี้เติบโต ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวได้ โดยจากการหารือร่วมกับทางกระทรวงการคลังก็มีท่าทีเห็นด้วยกับนโยบายที่ไม่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง” นายอัสสเดช กล่าว