ชาญศิลป์ ชู ‘การบินไทย’ เครื่องมือสำคัญพัฒนาประเทศ ตั้งเป้า Top 10 สายการบินดีที่สุดในโลก

ชาญศิลป์ ชู ‘การบินไทย’ เครื่องมือสำคัญพัฒนาประเทศ พร้อมสร้างความเชื่อมั่น เร่งขึ้น 1 ใน 10 สายการบินระดับโลก

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ห้อง Ballroom 1 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชน และมติชนออนไลน์ จัดสัมมนา “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย”

เวลา 11.00 น. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและผู้บริหารแผนฯ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เชื่อมั่น ทีจี ทรานส์ฟอร์มสู่อนาคต” ว่าเมื่อมาด้วยธีมความเชื่อมั่นประเทศไทยก็ต้องเชื่อมั่นการบินไทย จริงๆ แล้วธุรกิจการท่องเที่ยวสำคัญกับประเทศไทยมาก ในปี 2567 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.67 ล้านล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวไทยควรจะได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ADVERTISMENT

นายชาญศิลป์กล่าวว่า เป้าหมายที่รัฐบาลพยายามบอกว่าอยากมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 40 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การบินไทยก็จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นเครื่องมือของทุกรัฐบาลในการนำผู้โดยสารเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันธุรกิจการบินมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์และการบินไทยมี Market Share เพียงแค่ 15.1% ถือว่ายังไม่ค่อยดีนัก และในปี 2566 นำผู้โดยสารเข้ามา 9,146,570 ล้านคน แต่ปี 2567 การบินไทย ก็สามารถนำผู้โดยสารได้ถึง 12-15 ล้านคนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยก็มีคู่แข่งจำนวนมากมากกว่า 30 สายการบินชั้นนำจากทั่วโลก

“การบินไทยเราฟื้นฟูกิจการมาช่วงหนึ่ง เราเพิ่งตั้งหลักขึ้นมาและเรากำลังจะพร้อมออกไปวิ่งให้แข็งแรงขึ้น แล้วก็มีปริมาณการแข่งขันประมาณ 26.7% มีคู่แข่งมากมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแต่เดิมการบินไทย ก่อนช่วงโควิด-19 มียอดขายปีหนึ่งเกือบ 2 แสนล้านบาท สร้างเศรษฐกิจ สร้างแรงงานเกือบ 1,000,000 คน เพราะฉะนั้น การบินไทยจึงพยายามเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเครื่องมือให้กับประเทศ” นายชาญศิลป์กล่าว

ADVERTISMENT

นายชาญศิลป์กล่าวว่า การบินไทยในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ช่วงนั้นเราทำไม่ได้เลย เป็นช่วงที่ต้องหารายได้ จากการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ เป็นหลัก ซึ่งการบินไทยก้าวเข้าแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 การบินไทยเอาตัวรอดอย่างมากและก็ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ต้องหารายได้ทุกวิถีทาง ทำคาร์โก้อินเคบินและต้องขอบคุณสำนักคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้เอาคาร์โก้ผูกกับผู้โดยสารได้ และแล้วก็มีการขายทรัพย์สินเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตึก อาคารสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเราได้พยายามที่จะหารายได้ทางอื่น ตลอดจนได้รับการเสียสละจากพนักงานไปเกือบ 7,000 คนที่ออกจากองค์กรไป ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายไปเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะลำบากเราก็เอาเครื่องบินไปเอาวัคซีนมาจากประเทศจีนให้กับประเทศไทย พอถึงเดือนตุลาคม 2565 การฉีดวัคซีนเรียบร้อย ประเทศต่างๆ เริ่มเปิดขึ้น ขณะนั้นเห็นชัด การบินไทยกลับมามียอดขายเพิ่มขึ้นทุกเดือน จนกระทั่งล่าสุดธันวาคม 2567 มียอดขายถึง 18,041 ล้านบาท

“จนถึงขณะนี้ การบินไทยเริ่มกลับมามีรายได้หมุนเวียนมากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า การบินไทยกลับมาแข็งแรงขึ้น” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดีมาก เป็นศูนย์กลางของเอเชียแปซิฟิก เชื่อมจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการบินไทยมีข้อได้เปรียบ  สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินจากต่างประเทศมายังเที่ยวบินในประเทศไปยังหลายจังหวัดในประเทศไทยได้ เช่นไปจังหวัดภูเก็ต ไปจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลสรุปแล้วปัจจุบันการบินไทยมีเที่ยวบินทั้งหมด 64 เส้นทาง และ ทำการบิน 807 เที่ยวบินต่ออาทิตย์

“วันนี้ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายสวรรค์ของชาวโลก เพราะอากาศก็ไม่หนาวเกินไป ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงเกินไป และผู้คนอัธยาศัยดี เป็นมิตร มีอาหารที่ดี อร่อย” นายชาญศิลป์ระบุ

นายชาญศิลป์กล่าวว่า การทำธุรกิจนั้น ช่วงปี 2565 จนถึงปี 2567 การบินไทยจะยกความเชื่อมั่นกันมาก่อนเสมอ ต้องคิดเสมอว่าทุกคนในการบินไทยจะรอดไหม การบินไทยจะมีเงินพอไหม การบินไทยจะบินได้ไหม จะแข่งขันไหวไหม อย่างสำคัญคือต้องยกความเชื่อมั่นเรื่องการบริการให้ได้

ในช่วงยุคโควิด-19 และที่ผ่านมา ต้องขออภัยผู้โดยสารหลายคนที่อาหารไม่อร่อย แชมเปญไม่มี เครื่องดื่มก็ไม่ดี โดนบ่นโดนว่าเรื่องคอลเซ็นเตอร์ช้า ดังนั้น การบินไทยจึงค่อยๆ นำมาปรับปรุง ค่อยๆ พัฒนาเพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากลแล้ว จะเห็นว่าการจัดอันดับสายการบินระดับโลก ปี 2566 การบินไทยอยู่อันดับที่ 40 ของโลก และ ในปี 2568 ปรับตัวดีขึ้น เราคาดหวังว่าอีกไม่นานการบินไทยจะขึ้นติดอันดับ 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดของโลกด้านการบริการ

นอกจากนี้ นายชาญศิลป์กล่าวว่า สำหรับความเชื่อมั่นของการบินไทยที่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทย อันดับแรก การบินไทยต้องสร้างความแตกต่างโดยใช้ความสามารถในเรื่องการบริการ ความน่ารักของพนักงานของการบินไทยระดมพัฒนาเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ นี่คือสิ่งที่การบินไทยต้องพยายาม คือการทำให้เราได้รับการยอมรับมากจากเรื่องของการให้บริการ

รวมถึงการขยายเที่ยวบินไปที่จุดหมายปลายทางใหม่ๆ ซึ่งในปี 2567 ได้ขยายไปหลายพื้นที่ในทวีปยุโรป อาทิ เที่ยวบินตรงไปยังกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้โดยสารชาวต่างประเทศ เพราะชาวยุโรปชอบบินมาประเทศไทยบินอย่างมาก รวมถึงการนำ “ไทยสมายล์” มารวมกันเป็นการบินไทย ทำให้ประสิทธิภาพในการเชื่อมตัวเที่ยวบินดีขึ้นเกือบ 30% และผู้โดยสารเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเก้าอี้ที่นั่งที่สามารถนั่งเป็น Business Class ในเครื่องบินไทยสมายล์ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทั้งหมดไม่เกินปี 2568

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปี 2567 การบินไทยมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 15,195.21 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยก็ต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขัน อาทิ การรับมือกับบุคลากรที่ขาดแคลนและค่าแรงสูงขึ้น เพราะไปประกอบอาชีพอื่น และธุรกิจฟื้นตัว มีการแย่งบุคคลากร และต้องส่งเริมแนวนโยบายที่ส่งเสริม Thailand เป็น HUB จะต้องร่วมมือทั้ง value chain ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ สร้างความสุขและความปลอดภัย รวมถึงการปรับตัว หากสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น หาก over supply หรือเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องเพิ่มจำนวนและคุณภาพเครื่องบิน

“การบินไทยยังเจอกับปัจจัยที่ควบคุมยาก อาทิ เรื่องภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 ไฟป่าต่างๆ รวมถึงเรื่องของเสถียรภาพ การเมือง และเศรษฐกิจ นโยบายของไทย กับเพื่อนบ้าน กับมหาอำนาจ ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องรักกัน ต้องไม่มีการเผาบ้านเผาเมืองกันอีก ต้องรักกัน ต้องช่วยกัน อันนี้คือสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสมเพราะตอนนี้ธุรกิจการบินไปถึงไหนต่อไหนแล้ว” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ช่วงตั้งแต่ต้น ตอนเข้าแผนฟื้นฟู 26 พฤษภาคม 2563 ขณะนี้ เราอยู่ขั้นตอนปลายแผนแล้วเดียววันที่ วันที่ 18 เมษายน 2568 จะเป็นเงื่อนไขสุดท้ายการบินไทยจะออกแผนฟื้นฟูได้ต้องมี 4 เงื่อนไข 1.เพิ่มทุนและทุนเป็นบวก 2.จ่ายเงินตามแผนฟื้นฟู ตอนนี้จ่ายครบถ้วนมา 4 ปี แล้ว 3.มี EBITDA หรือ กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จากการลดค่าเช่าเครื่องบินอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท 4.การเลือกกรรมการ ในวันที่ 18 เมษายน 2568 นี้ ครบ 4 เงื่อนไข ก็จะยื่นศาลออกจากแผน 

หลังจากเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2568 นี้ และ การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูและจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย เข้าสู่การเป็นบริษัทเอกชนปกติ สำคัญที่สุดคือปี 2568 และต่อเนื่อง การบินไทยจะเติบโตอย่างสวยงาม เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย การบินไทยจะต้องแข็งแรง และต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทั้งเจ้าหนี้ รัฐบาล ลูกค้า สื่อมวลชน รวมไปถึงพนักงานที่น่ารักทุกคน การบินไทยจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนที่ดีจากทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image