บอร์ด ตลท.ไฟเขียว ยกเลิกเกณฑ์ Uptick กับทุกหลักทรัพย์ คุมเข้มชอร์ตเซล-HFT มีผลบังคับใช้Q2 ปีนี้
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงมาตรการการกำกับการซื้อขาย ที่ได้เริ่มใช้บังคับในช่วงปี 2567 โดยได้พิจารณาแนวทางและมาตรการอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้มาตรการตามสถานการณ์ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน และสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย
โดยมาตรการที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้คือ 1.มาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก 1.1. การกำกับดูแลการชอร์ตเซล (ขายชอร์ต) จากปัจจุบันกำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick กับทุกหลักทรัพย์ฯ แต่จะทบทวนใหม่โดยกำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น กล่าวคือ กรณีปกติสามารถใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick สำหรับการขายชอร์ตได้ เว้นแต่เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด เช่น มากกว่าหรือเท่ากับ X% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า ถึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป
“ยกตัวอย่าง เรากำหนด X% ไว้ที่ 10% และราคาหุ้น ก. วันนี้อยู่ที่ 10 บาท และราคาปิดตลาดช่วงเย็นปรับลดลงไปเหลือ 9 บาท หรือลดลง 1 บาท หรือ -10% หุ้นตัวนี้ในวันถัดไปจะถูกใช้เกณฑ์ Uptick แต่ถ้าสมมติหุ้น ก. ราคาลดลงไม่ถึง 10% เช่น -5% จะให้ใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick ได้ในวันทำการถัดไป เพราะฉะนั้นเกณฑ์ Uptick แทนที่จะใช้กับทุกหลักทรัพย์ มาตรการใหม่คือจะใช้เกณฑ์ Uptick เฉพาะรายหลักทรัพย์ที่มีราคาปรับลดลง X% เมื่อเทียบกับราคาวันก่อนหน้า โดยตัวเลข X% นั้น จะต้องรอฟังผลจากการนำหลักการตรงนี้ไปรับฟังความคิดเห็นกับบริษัทสมาชิก (บริษัทหลักทรัพย์) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน อย่างไรก็ดีตามแนวทางในต่างประเทศจะกำหนดไว้อยู่ที่ระดับ 10% และ 15%” นายอัสสเดช กล่าว
1.2. จะปรับปรุงคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยจะกำหนดให้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหุ้นในกลุ่ม SET100 และ non-SET100 ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง (มีมาร์เก็ตแคปเฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมี Monthly Turnover ในรอบ 12 เดือน ไม่น้อยกว่า 2% รวมทั้งมีการกระจายฟรีโฟลตไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว)
และ 1.3. จะเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์เฟส 2 ออกไปก่อน
2. มาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ประกอบด้วย 2.1. การกำกับดูแลระบบการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง (High Frequency Trading) โดยจะจำกัดให้ผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ทั้งนี้ไม่รวม Market Maker
และ 2.2. จะยกเลิกเกณฑ์กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย (ออเดอร์) ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ซึ่งเดิมได้กำหนดไว้ที่ 0.250 วินาที (250 milliseconds) ซึ่งขณะนั้นเพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีส่งคำสั่งซื้อและส่งคำสั่งขาย และถอนออกเร็ว ๆ และกำหนดคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูกปฏิเสธ (Reject) โดยระบบทันที แต่การปรับเกณฑ์ HFT ให้จำกัดส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ทำให้มองว่าเกณฑ์ Minimum Resting Time อาจจะไม่จำเป็นแล้ว
“มาตรการทั้งหมดนี้ในหลักการได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ตลท.ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเช้าวันนี้ ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) หากมีอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องนำกลับมาขอความเห็นชอบจาก บอร์ด ตลท. อีกครั้ง ก่อนจะเสนอเรื่องไปขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ก.ล.ต.) เพื่อแก้ไขเกณฑ์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน หรือเริ่มมีผลบังคับได้ประมาณช่วงไตรมาส 2/2568” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าว
นายอัสสเดช กล่าวต่อว่า การปรับปรุงมาตรการในรอบนี้พิจารณามุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) เพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสม และคาดหวังจะสร้างความน่าสนใจและเพิ่มสภาพคล่องที่มากขึ้นให้กับตลาดหุ้นไทยได้ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในเชิงนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้ให้มีการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้จะไม่มีการปรับปรุงมาตรการอื่นเพิ่มเติมแล้วในปีนี้ จะกลับมาทบทวนมาตรการอีกครั้งในช่วงต้นปี 2569
“บอร์ด ตลท. มีความตั้งใจและให้ความสำคัญในการดูแลผู้ลงทุนทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้นการพิจารณามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอยากให้เชื่อมั่นว่าพยายามจะสร้างความสมดุลและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำว่ารอบนี้ได้พิจารณาองค์ประกอบในภาพรวมทั้งหมดว่าอะไรที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน อีกด้านที่จะหนุนความเชื่อมั่นคือโครงการ Jump+ และโครงการซื้อหุ้นคืน ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น” นายอัสสเดช กล่าว