ชาวนา ลั่นเตรียมฉะกลางวงถกอนุฯข้าว พิชัย นั่งประธาน จี้ต้นเหตุราคาดิ่ง โอดที่ผ่านมาเตรียมรับมือปัญหาล่าช้า
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวก่อนร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมในเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ตนเป็นตัวแทนชาวนา เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ผ่าน 3 ข้อเสนอ ได้แก่
1.การชดเชยในการห้ามเผาฟางไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่เพาะปลูกจริง ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการพิจารณา
2. ความช่วยเหลือด้านราคา นั้น ปรับจากช่วยเหลือเรื่องราคาตกต่ำไร่ละ 500 บาท จ่ายตามพื้นที่ๆเพาะปลูกจริงตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นประกันราคา โดยอิงข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ได้แก่ ข้าวเปลือกพันธุ์ กข 105 ราคาประกัน 13,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกปทุม 12,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวหรือข้าวเปลือกเจ้าพื้นนุ่ม 11,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าทั่วไป 10,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคาจะลดหลั่นกันไปตามความชื้น หากความชื้นสูงก็จะได้ราคาลดลง ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวนาที่กำลังเดือดร้อนมากแล้วกว่า 10 จังหวัดร้องขอให้ใช้เกณฑ์ตัดเรตนี้
3. เรื่องของปัจจัยการผลิตราคาแพง เช่น ปุ๋ย ยา และเรื่อง พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตที่สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนชาวนาลดลง ตอบโจทย์ทั้งชาวนาและตลาดข้าวนาปรัง ขณะนี้ราคาสินค้าเกี่ยวกับเพาะปลูกราคาสูงต่อเนื่อง ก็อยากให้ปรับลด เช่น ปุ๋ยอยากให้ลดราคาจาก 900 บาทเหลือ400-500 บาท ยาปราบศัตรูพืชขึ้นสูงขึ้นหลายร้อยบาท
” ในการประชุมผมคงต้องพูดแรง คงต้องฉะไปถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวนาในแต่ละจังหวัดร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเรื่องราคาข้าวและแบกรับต้นทุนเพาะปลูกที่สูง เฉลี่ยไร่ละ 5,500-6,000 บาท ก่อนหน้านี้ขายได้ 9 พันถึง1 หมื่นบาท ก็พออยู่ได้ แต่วันนี้ราคาดิ่งเหลือต่ำกว่า 8 พันบาท บางพื้นที่ได้แค่ 6พันบาทเศษ และหากปล่อยไปอย่างนี้ ข้าวเปลือกนาปรังจะออกมากว่าครึ่งของผลผลิตในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากพื้นที่เพาะปลูก 10-12 ล้านไร่ คาดผลผลิต6-7 ล้านตันข้าวเปลือก จะกดดันราคาให้ลงไปเรื่อยๆ และเข้าขั้นวิกฤต เราอยากให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้ลงมาดูแล พูดคุยกับชาวนาบ้าง ที่ผ่านมา ไม่เคยลงมาคุยเลย จนปล่อยให้ความเดือดร้อนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย เราไม่อยากชุมนุมเพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งปิดถนนประท้วงไม่ได้ทำมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เมื่อความเดือดร้อนมากขึ้น และรัฐบาลยังไม่ลงมาดูแลพูดคุย ก็คงต้องยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป เราหวังว่าหลังประชุมคณะอนุกรรม เสร็จ จะเร่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่มีรองนายกฯพิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมครม. พิจารณาเห็นชอบ โดยเร็วก่อนปริมาณข้าวเปลือกล็อตใหญ่จะออกตลาดพร้อมกันปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตอนนี้ราคาดิ่งไปที่ 6-7 พันบาทต่อตัน เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดมานานแล้ว ตอนนี้เดือดร้อนมากกว่า 10 จังหวัดแล้วที่ออกมาเรียกร้อง เชื่อว่าจากนี้จะมีกันครบ 22 จังหวัด ” นายปราโมทย์ กล่าว
นายปราโมทย์ กล่าวว่า การเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกในขณะนี้ ที่กำหนดราคารับซื้อสูงกว่าตลาดตันละ100-200บาท นั้น ยังไม่สามารถช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาวนาได้ตรงจุด เพราะตอนนี้ราคาตันละ 6,000 บาท ให้อีก 200 บาท ก็ได้รับ 6,200 บาท ยังไม่ชดเชยต้นทุนไม่ได้ ที่เราต้องการเร็วที่ลดคือแก้ปัญหาแหล่งน้ำ เมื่อมีน้ำจดช่วยลดต้นทุนเพาะปลูกได้มาก
วงการค้าข้าว กล่าวถึงราคาข้าวดิ่งมากในปี 2568 นี้ เป็นเรื่องสะสมในหลายประการ ที่สำคัญๆคือ เมื่อรัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกข้าวเจ้า ปลายประเทศนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น จนบางช่วงปริมาณข้าวในประเทศตึงตัว ด้วยผลผลิตพันธุ์ข้าวไทยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนการเพาะปลูกให้ผลผลิตต่อไร่ 800-900 กิโลกรัม ทำให้มีการนำพันธุ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูกโดยเฉพาะพันธุ์จากเวียดนาม ซึ่งให้ผลผลิตมากถึง 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ และโรงสีบางส่วนรับซื้อเพียงให้ราคาต่ำกว่าพันธ์ กข 105 แต่ชาวนายังขายข้าวได้ในราคาดี 9 พันบาทขึ้น จึงทำให้ชาวนาเริ่มหันมาปลูกข้าวพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกันอย่างแพร่หลาย แต่เมื่อปลายปี 2567 รัฐบาลอินเดียยกเลิกห้ามส่งออกข้าวเจ้า ประกอบกับปัญหาแล้งคลี่คลาย ประเทศผู้นำเข้ามีผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น และบางประเทศที่เคยสต๊อกนำเข้าไว้มากเพื่อความมั่นคงด้านอาหารตลอด 2-3 ปีทีผ่านมา ชะลอการนำเข้าหรือลดการนำเข้า40-50% ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับลักษณะเมล็ดข้าวพันธุ์เพื่อนบ้าน ที่นิยมซื้อที่เรียกกันเป็นข้าวขาวเบอร์ 8 เบอร์ 5 เบอร์ 20 หรือ เบอร์ 54 จะมีลักษณะเมล็ดสั้น เปลือกหนา และเกิดท้องไข่เร็ว จึงไม่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อแม้ราคาจะลดลง จึงส่งผลกระทบต่อข้าวเปลือกเจ้าทุกพันธุ์ ราคาดิ่งลงไปด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมในเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้มีตัวแทนชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4-5 คนมาสังเกตุการณ์ และรอผลสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ก่อนที่จะประชุมหารือเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป