CHEWA ปรับกลยุทธ์กางแผนโต ทั้งรายได้-ลดหนี้ เตรียมซื้อที่ดินผุด 4 โครงการใหม่ หวังโกยรายได้ 2 พันล.
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายบุญ ชุน เกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) หรือ CHEWA เปิดเผยว่า ในปี 2568 ชีวาทัยเดินหน้าศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบนทำเลศักยภาพทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมุ่งเน้นเซ็กเมนต์ที่บริษัทถนัดและได้รับผลตอบรับที่ดีมาตลอด ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมในช่วงราคา 2-4 ล้านบาท ผ่านแบรนด์หลัก Chewathai Hallmark โดยวางแผนการซื้อที่ดินใหม่ 4 โครงการ มูลค่ารวม 2,395 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาเพื่อเข้าซื้อคอนโดระหว่างก่อสร้างเพื่อการรับรู้รายได้ที่เร็วขึ้นอีก 1-2 โครงการในปีนี้ เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ต้องการการรับรู้รายได้ปี 2568 จำนวน 2,000 ล้านบาท และบริษัทยังขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อเนื่อง โดยเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพและเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิมของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจบ้านมือสอง ภายใต้แบรนด์ Chewa Renue และธุรกิจนิติบุคคล พร้อมศึกษาธุรกิจอื่นๆ ที่จะส่งเสริมและสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง
นายบุญ ชุน เกียรติกล่าวว่า สำหรับกลยุทธที่จะนำมาใช้ในปีนี้ มีการต่อยอดนโยบายด้านการขายที่ได้รับผลตอบรับที่ดี คือโปรโมชั่น “อยากซื้อต้องได้ซื้อ” ที่มาในรูปแบบของการให้บริการ financial consultant เข้าดูแลลูกค้าที่มีปัญหาด้านการจัดการเอกสารการกู้สินเชื่อ การบริหารภาระหนี้ หรือปัญหาด้านวินัยทางการเงิน จนไม่สามารถกู้ได้ ชีวาทัยจะเข้าไปดูแลให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในระยะยาวต่อเนื่องจนสามารถกู้ผ่านและโอนได้ ทำให้มี backlog ส่วนหนึ่งที่อยู่กับเรานานมาก บางรายมากกว่า 6 เดือน และค่อยๆปรับปรุงวินัยทางการเงินจนสามารถกู้ได้สำเร็จ นอกจากนี้กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมด้านการแข่งขัน จะมีการจัดโปรโมชันใหญ่ของชีวาทัย “MEGA SALES” เพื่อคืนกำไรแก่ลูกค้าตลอดปี คาดว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
“บริษัทมีแผนลดภาระหนี้หุ้นกู้รวม 470 ล้านบาท โดยปีนี้สามารถลดภาระหนี้ลงได้แล้ว 250 ล้านบาท จากการชำระคืนหุ้นกู้ ภายในปี 2568 ยังตั้งเป้าจะเร่งลดหนี้ลงอย่างต่อเนื่องอีก 220 ล้านบาท การลดภาระหนี้ลงตามแผนจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินของบริษัท และยังทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง มีสภาพคล่องทางการเงินสูงขึ้น ที่สำคัญยังจะมีผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทลดลงด้วย โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ารวม 949 ล้านบาท นอกจากรายได้ด้านการขายอสังหาริมทรัพย์เดิมของชีวาทัยแล้ว ยังเร่งสร้างรายได้จากโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการหลักที่จะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ อีกหลายโครงการ
นายบุญ ชุน เกียรติกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปีที่ผ่านมา อยู่ในช่วงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน แม้มีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่ลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.01 พร้อมขยายเพดานจากราคา 3 ล้านบาทเพิ่มเป็น 7 ล้านบาท แต่ก็ยังมีปัจจัยด้านลบในหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยรวม เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้กระทบต่อความมั่นใจของลูกค้าในภาพรวมสำหรับชีวาทัย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกระแสของลูกค้าที่ชะลอตัว แต่จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า จำนวนลูกค้าที่เข้าชมโครงการไม่ได้ลดลง แต่ลูกค้าใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจนานขึ้น รวมถึงโอกาสในการขอสินเชื่อสำเร็จลดลง ทางบริษัทจึงมีการปรับนโยบายและโปรโมชั่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงให้คำปรึกษาในการขอสินเชื่อแก่ลูกค้าในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีการจัดเก็บข้อมูลและสอบถามความคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อตอบสนองเป็นโปรโมชั่นและบริการที่ทำให้ลูกค้าทุกคนประทับใจ มั่นใจในคุณภาพของสินค้า และการดูแลทั้งก่อนและหลังการขาย แม้ว่าจะมีผลกระทบจากกระแสของตลาดที่มีการให้โปรโมชั่นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ด้านผลการดำเนินงานของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,927.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อนจำนวน 28.79 ล้านบาท คิดเป็น 1.52% โดยเป็นรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 1,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 12.30% ส่วนรายได้จากโครงการแนวราบจำนวน 549 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 12.30% นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากโครงการบ้านมือสองจำนวน 53 ล้านบาท และมีรายได้อื่น ๆ จำนวน 112.68 ล้านบาท คิดเป็น 5.8% ของรายได้รวม ยอดขายหลัก ๆ ที่เติบโตมาจากโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงราคา 2-4 ล้านบาท ได้แก่ โครงการชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค ลาดพร้าว-โชคชัย 4 เฟส 2, โครงการชีวาทัย ปิ่นเกล้า และโครงการชีวาทัย เกษตร-นวมินทร์ ส่วนโครงการแนวราบ ทั้งโครงการทาวน์โฮม/อาคารพาณิชย์ และโครงการบ้านเดี่ยวมีการเติบโตลดลง สืบเนื่องมาจากปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้า แม้ว่าทางบริษัทจะมียอดสะสมจากการทำสัญญาเพิ่มขึ้นก็ตาม ทำให้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามเป้า ทำให้การดำเนินงานทั้งปี บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 356.37 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนจากการลดลงของมูลค่าโครงการ