ทีดีอาร์ไอ สะท้อน”กองทุนประกันสังคม” ควรรีดไขมัน ปฏิรูปงานพีอาร์ รับฟังความเห็นปชช.คนจ่ายเงิน
จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ โพสต์เฟซบุ๊กสรุปงานกิจกรรม Hack งบประกันสังคม เปิดเผยถึงการใช้จ่ายงบกองทุนประกันสังคมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ทริปดูงานต่างประเทศ ค่าอบรมสัมมนา ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าจัดทำปฏิทิน หรือภาพรวมต่างๆ นั้น
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ถึงแนวทางการใช้งบประมาณที่เหมาะสม ว่า สิ่งสำคัญแบ่งได้เป็น 2 ส่วนซึ่งต้องบริหารจัดการควบคู่กันไป คือ ภาพใหญ่และภาพเล็ก
ภาพใหญ่ เราจะต้องควบคุมระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกรรม (Operating Cost) ไม่ให้สูงจนเกินไป เนื่องจากเวลาที่เราบริหารกองทุนอะไรก็ตาม จะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งในการจ้างงาน จ้างคน การศึกษาดูงาน หรือการทำประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ แต่งบทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เราต้องกลับมาทอนคิดว่าต้องใช้เท่าไหร่ต่อปีจึงจะเหมาะสม ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะใช้พิจารณากัน คือ หากเป็นกองทุนในลักษณะเดียวกัน เขาจะคิดค่าบริหารจัดการเท่าไหร่ โดยส่วนตัวหากไม่ต้องการอะไรที่มาเกินไป ก็มักจะดูเทียบกับกองทุนที่ใช้บริหารของต่างประเทศ ซึ่งเกณฑ์จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2%
พูดง่าย ๆ คือ ค่าใช้จ่ายเวลาเราไปซื้อกองทุนต่างประเทศ เราลงทุน เขาก็คิดค่าบริการเราแค่ 1.5-2% เพื่อที่จะบริหารให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ถ้าย้อนกลับมาแบบนี้แปลว่า กองทุนประกันสังคมเองก็ไม่ควรที่จะใช้งบประมาณเกิน 1.5-2% ต่อปี ฉะนั้น ถ้าเทียบในปัจจุบัน ภาพใหญ่ เราจะเห็นว่ากองทุนประกันสังคมใช้งบประมาณ 3% ต่อปี ซึ่งสูงเกินไป นั่นแปลว่าในภาพใหญ่บ่งชัดแล้วว่า “ยังมีไขมันที่ยังไม่ได้รีดอยู่ มันควรที่จะต้องลดลง”
ส่วน ภาพเล็ก ก็เป็นอย่างที่ น.ส.รักชนก กล่าวไว้ คือ ต้องมาดูว่ารายจ่ายในส่วนไหนที่ยังจำเป็น “ปฏิทินยังจำเป็นต้องทำหรือเปล่า คุณทำระบบหลังบ้านได้ดีไหม ราคาถูกไหม มีการแข่งขันไหม รวมถึงเวลาที่คุณจะไปดูงาน ซึ่งหากเทียบกับผู้บริหาร ปัจจุบันผู้บริหารในองค์กรเอกชนก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปเดินทางชั้นธุรกิจ แทนการนั่งเฟิร์สต์คลาสกันแล้ว ตรงนี้หมายถึงการเดินทางไกล ถ้าเดินทางใกล้ ๆ เขานั่งชั้นประหยัดกันด้วยซ้ำ”
“ฉะนั้นในแง่นี้เอง ท้ายที่สุดแล้วในมุมมองของผมก็คงเห็นด้วยกับท่าน ส.ส. ที่เปิดประเด็นมาว่ามันมีไขมันที่ต้องรีดอยู่ และมีเป้าหมายที่มันไม่ควรจะเกิน 1.5-2% ขณะเดียวกันการรีดรายไอเทมก็ยังคงสำคัญ แปลว่ากองทุนประกันสังคมจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล เพื่อที่พวกเราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ตัวไหนมันไม่จำเป็นแล้ว ตัวไหนจำเป็นแต่มันไม่เกิดการแข่งขัน ต้นทุนแพงไป พวกนี้ต้องปรับลด รวมทั้งสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องนำมาเปรียบเทียบว่า มันจะต้องปรับลดหรือเปล่า มันยังจำเป็นหรือเปล่าที่เราตะต้องให้สิทธิและสวัสดิการขนาดนั้น ” นายนณริฏ กล่าว
ส่วนในเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง นายนณริฏ กล่าวว่า เข้าใจว่านี่เป็นปัญหาหนึ่ง คือ รูปแบบที่ใช้ประชาสัมพันธ์ยังไม่ดี โดยปัจจุบันมีการทำประชาสัมพันธ์ของกองทุนประกันสังคม มี 2 รูปแบบ คือ Active และ Passive คือ Active ประกันสังคมจะออกไปให้ข้อมูลกับประชาชนด้วยรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ทำแผ่นพับ ทำปฏิทิน แล้วใส่ข้อมูลลงไป หรือเปิดเว็บไซต์ฯ ส่วน Passive คือ รอให้คนโทรมาถามว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีการเปิดสายด่วนต่าง ๆ ซึ่งจากที่ตนได้รับฟังข้อมูลมาก็พบว่า มันไม่เวิร์ก ดังนั้น ทั้งสองส่วนที่กล่าวมาจึงต้องได้รับการปฏิรูป
เมื่อถามว่า กองทุนประกันสังคมควรเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนใช่หรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่า ตรงนี้ดีที่สุดเลย ถ้าเกิดมีการเปิดกับประชาชนจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในลำดับที่เปิดเข้มข้นน้อยลงมา คือ เปิดให้เฉพาะคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนเข้าไปก็ได้ อาทิ คณะก้าวหน้าที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไป เขาเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอยู่แล้วที่จะเข้าไปรักษาสิทธิประโยชน์ คุณเปิดให้เขาแค่นี้ก็ได้ ไม่ต้องถึงขั้นเปิดสาธารณะเพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว
เมื่อสังคมได้ทราบถึงการนำงบประมาณไปใช้ในทางมิถูกมิควร จะส่งผลต่อการตัดสินใจสมัครเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่า เรื่องของประกันสังคม หากจะเกี่ยวในระดับมาร์จิ้น คือ คนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เพราะเรามีกฎหมายว่าทุกคนต้องเข้าร่วมประกันสังคม ฉะนั้น โดยพื้นฐานมันไม่ใช่การตัดสินใจว่าใครจะเข้าได้หรือไม่ได้ แต่หากสังคมมีความไม่พึงพอใจมากๆ ทางกองทุนประกันสังคมเองก็ควรที่จะต้องมีกลไกการรับมือ ไม่ใช่ปล่อยให้ความไม่มีประสิทธิภาพมันไหลต่อไป ส่วนบอกว่าเกี่ยวที่มาร์จิ้น คือ กรณีที่คุณเป็นแรงงานนอกระบบ แล้วคุณสามารถเข้ามาตรา 39 หรือ 40 ได้ ตรงนี้จะเริ่มเป็นทางเลือกได้แล้ว หรือคนที่เกษียณอายุ 55 ปีแล้ว อยากไปทำงานต่อก็อาจจะต่อเป็นมาตรา 39 แทน ฉะนั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก