ผู้เขียน | สุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI |
---|
คิดเห็นแชร์ : ตลท. X คลัง : แผนกู้วิกฤตศรัทธาตลาดหุ้นไทย (มาตรการระยะสั้น)
ตลาดหุ้นไทย Underperform ตลาดหุ้นโลกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (วันที่ 20 ก.พ.) ดัชนี SET ยังลดลงต่อเนื่องอีก -11% ตั้งแต่ต้นปี 2568 (YTD) และใกล้ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 เป็นต้นมา ทั้งในเชิงด้านราคาและ Valuation (PE/PBV) ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมไปถึงความเชื่อมั่นการบริโภคในประเทศ เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนของนักลงทุนที่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าใจกันว่าเป็นชนชั้นกลาง แต่การลงทุนในตลาดทุนมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในภาพรวมด้วย อาทิ การลงทุนในหุ้นของกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ต่างๆ เป็นต้น กระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมงัดมาตรการที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจึงอยากจะแชร์ความเห็นที่มีต่อมาตรการที่ผมคิดว่ามีความสำคัญที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทย
มาตรการระยะสั้น หยุดเลือดไหล ลดแรงกดดันระยะสั้น แบ่งออกได้เป็น
1.มาตรการเปลี่ยนกองทุน LTF (เดิม) มาเป็น กองทุน ESG (ใหม่) โดยอาจมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุน LTF ชะลอการขาย ซึ่งคาดว่าจะมีข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมภายในเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากทางกระทรวงการคลังประเมินว่าแรงขายหุ้นที่กดดันตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายกองทุน LTF เดิม ที่ทยอยครบกำหนดให้สามารถขายได้สุดท้ายในปี 2568 นี้ (ปัจจุบันคาดเหลือวงเงินอีกราว 1.8 แสนล้านบาท) ผมประเมินว่ามาตรการนี้เป็นเพียงมาตรการที่จะช่วยชะลอแรงขายหุ้นเท่านั้น ยังไม่ใช่มาตรการที่จะช่วยผลักดันตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ หากมาตรการออกมาไม่จูงใจเพียงพอ การชะลอแรงขายด้วยมาตรการนี้อาจไม่ได้ผลมากนัก
2.มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Sell) และกำกับดูแลการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trade (HFT) หรือโปรแกรมเทรด โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนักและ Underperform ตลาดหุ้นโลก ต้องยอมรับว่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา มีส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการ Short sell และการใช้โรบอตเทรด โดยเห็นได้ชัดว่าหุ้นรายตัวที่มีความผันผวนมาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะสอดคล้องกับการรายงานการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดในแต่ละวัน ความผันผวนที่มากขึ้นนี้เอง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทาง SET ได้ปรับเกณฑ์กำกับดูแลสำหรับการ Short sell และโปรแกรมเทรด ใหม่ โดยจะสามารถส่งคำสั่งการ Short selling และสามารถใช้โปรแกรมเทรดได้เฉพาะหุ้นใน SET100 เท่านั้น มาตรการนี้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ใน
ไตรมาส 2/2568 นี้ ผมประเมินผลจากมาตรการนี้ออกเป็น 2 มุมมอง ด้านที่เป็นผลบวกคือความผันผวนของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก จะลดลง ราคาหุ้นจะสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน รวมไปถึงอุปสงค์-อุปทานที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวมากขึ้น (เฉพาะหุ้นนอก SET100) และประเมินว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะมีการกระจายตัวที่มีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่ลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กลงและไปกระจุกตัวที่หุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว และทำให้ดัชนี SET / SET100 / SET50 ถูกบิดเบือนด้วยหุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว เนื่องจากความผันผวนของราคาหุ้นขนาดเล็กที่มากจนเกินไป (ผลจาก Short sell และโปรแกรมเทรด) สำหรับประเด็นเรื่องโอกาสการซื้อคืนเพื่อปิดสถานะชอร์ต (Short covering) ในหุ้นนอก SET100 เนื่องจากจะห้ามการ Short sell นั้น อาจมีผลบวกต่อราคาหุ้นอยู่บ้างแต่คาดจะไม่มาก เนื่องจากข้อมูลล่าสุดสถานะชอร์ตคงค้างหุ้นนอก SET100 เหลืออีกไม่มากแล้ว เมื่อเทียบกับหุ้นใน SET100 สำหรับด้านที่เป็นลบ คือ มาตรการกำกับดูแลการส่งคำสั่ง Short sell จะเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick และจะใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด (เช่น ≥X% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า) จึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป ผมประเมินว่าความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นจาก Short sell และโปรแกรมเทรดจะกลับไปกระจุกตัวที่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 ทำให้ดัชนี SET100 / SET50 อาจมีความผันผวนที่สูง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของนักลงทุนระยะสั้นได้ เนื่องจากตามทฤษฎีการเงินแล้วความผันผวนที่สูงจะทำให้นักลงทุนเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk premium) ที่สูงขึ้น และตามมาด้วย Valuation ที่ลดลงนั่นเอง ดังนั้น ผมประเมินว่าดัชนี SET100 / SET50 จะมีความผันผวนสูง (ทั้งขาขึ้นและขาลง) ในช่วงต้นที่มาตรการเหล่านี้มีผลบังคับใช้ จนกว่าตลาดจะปรับเข้าสู่สมดุล
สำหรับมาตรการระยะถัดไป ซึ่งทาง SET อยู่ระหว่างศึกษาและนำเสนอกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้ จะเป็นมาตรการระยะกลาง ที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนวางแผนการเติบโต รวมไปถึงมีผลบวกต่อโครงสร้างภาษีนิติบุคคลในอนาคตนั้น ซึ่งจะใช้ชื่อโครงการ “Jump+” คาดว่าเมื่อมีรายละเอียดของมาตรการที่ชัดเจน
ผมจะแชร์ความคิดเห็นของผมในบทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับเดือนถัดไปนะครับ