ผวาหุ้นไทยซ้ำรอย ‘วนในอ่าง’ กูรูเปิดวิธีไต่เหนือ 1,600 จุด

หุ้นไทย

หุ้นไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง แต่เป็นการร้อนแรงในแดนลบ หลังจากดัชนีทิ้งดิ่งลงมาอยู่ที่ระดับ 1,246.21 จุด ปรับลดลงหลุดระดับ 1,300 จุด อีกครั้งหลังจากหลุดไประยะสั้นๆ ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้หุ้นไทยในตอนนี้ ดัชนีหลุดไปวิ่งใกล้ๆ ระดับเดิม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่อยู่แถว 1,202.16 จุด เกือบหลุดไปแตะ 1,100 จุด เรียกได้ว่าเกือบหลับ แต่กลับมาได้ทัน

⦁ กูรูมั่นหุ้นพุ่งเหนือ1,600จุด

จากตอนต้นปี 2568 ที่เห็นนักวิเคราะห์ให้เป้าหมายหุ้นไทยในระดับสูงกว่า 1,600 จุด อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะได้เห็นภาพบวกในช่วงครึ่งปีแรก จึงให้เป้าหมายหุ้นไทยที่ระดับ 1,660 จุด บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีลุ้นฟื้นตัวขึ้นได้ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2.9% จึงให้เป้าหมายหุ้นไทยไว้ที่ 1,540 จุด บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยปี 2568 อาจยังไม่ได้ดีมากนักเพราะมีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายของสหรัฐ ทำให้การปรับขึ้นมีอย่างจำกัด จึงมองเป้าดัชนีไว้ระดับ 1,550 จุด

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากกำไรที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ในด้านบวกคาดว่ากำไรปี 2568 จะเติบโต 22% โดยมองเป้าหมายหุ้นระดับ 1,550 จุด และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงระดับ 1,600-1,650 จุด จากความเป็นไปได้ใน 2 ปีจากนี้ บนปัจจัยการลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.5% มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การลงทุนจากต่างชาติเป็นไปตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 20% ด้านบริษัทหลักทรัพย์ พาย ประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยที่ 1,540 จุด ภายใต้ความกังวลสงครามการค้ากับนานาประเทศอาจกลับมาอีกรอบโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน และอาจรวมถึงประเทศไทยที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจตั้งกำแพงภาษี เพราะไทยเกินดุลการค้าค่อนข้างสูง ซึ่งภายใต้แรงกดดันจากสงครามการค้า จะสร้างโอกาสดาวน์ไซซ์ต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกและอาจรวมถึงการท่องเที่ยว

ADVERTISMENT

ทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดหวังว่า ปี 2568 จะเห็นสินทรัพย์เสี่ยงกลับมาวิ่งฉิวได้อีกครั้ง แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน ทำให้ภาพหวังที่เคยลุกโชนเริ่มมอดดับลงโดยเฉพาะการตอกย้ำจากการเคลื่อนไหวของหุ้นไทยที่นอกจากจะไม่ไต่ระดับขึ้นแล้วยังวิ่งลงเอาๆ จนล่าสุดกลับไปอยู่ในระดับเดิม เหมือนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เท่ากับช่วงเวลากว่า 5 ปีมานี้ ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ไปไหนเลย ย่ำอยู่กับที่ เปรียบเสมือนการพายเรือวนในอ่าง จะเดินหน้าก็ไปไม่ไหว ตรงกันข้ามดูเหมือนจะถอยหลังด้วยซ้ำ

⦁ ‘มูลค่าถูก’ข้อดีหุ้นไทย

ADVERTISMENT

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยหลังจากเปิดปี 2568 มาได้ไม่ถึง 2 เดือน แต่เห็นการปรับตัวลงของดัชนีอย่างร้อนแรงจากระดับ 1,379.85 จุด ลงมาที่ระดับ 1,246.21 จุด ลดลงกว่า 133.64 จุด ถือว่าเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องในปริมาณมาก จนหลุดระดับจิตวิทยาสำคัญที่ 1,300 จุด โดยหุ้นไทยขณะนี้มีข้อดีเพียงข้อเดียว คือ มูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) หลายตัวไม่ได้มีราคาแพง เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่ราคาไม่แพงอย่างเดียว ยังไม่พอจริงๆ ต้องมีแรงบวกอื่น หรือกุญแจใหม่ๆ ช่วยดันดัชนีให้กระตุกกลับแดนบวกได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แวว

“ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยถูกกระแทกจนปรับลดลง เป็นเพราะหน้าหุ้นขนาดใหญ่ ที่ปรับราคาลงมาในหลายเซ็กเตอร์ อาทิ หุ้นเอโอที เดลต้า ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดเยอะ ด้วยมีขนาดใหญ่มาก อยู่ในระดับบนของตลาด และการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมาเบื้องต้นแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้มาก อีกทั้งยังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยตีดัชนีให้กลับขึ้นไปวิ่งในแดนบวกได้ รวมถึงตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไทย ที่คาดการณ์ว่าปี 2568 จะโตเพียง 2% ปลายๆ เท่านั้น จากปี 2567 ที่ประกาศมาว่าโตเพียง 2.5% จึงไม่มีแรงบวกช่วยพยุงดัชนีให้วิ่งได้” นายวิจิตรกล่าว

ปัจจัยสำคัญอีกเรื่อง เป็นการเคลื่อนไหวของผู้กำกับดูแล ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังไม่เห็นมีมาตรการที่ส่งผลในแง่บวกออกมา แถมยังเป็นปัจจัยลบด้วยซ้ำ เพราะมาตรการที่ออกมาค่อนข้างทำร้ายตลาด อาทิ ทบทวนมาตรการ Short Sell ใหม่ จากเดิมให้ใช้กฎ Uptick Rule กับทุกหลักทรัพย์ ปรับมาให้ใช้ Uptick เฉพาะหุ้นที่ราคาลดลงจากราคาปิดวันก่อนหน้าจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด และใช้ในหุ้น SET100 หรือบริษัทใหญ่ 100 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวกดดันตลาดหุ้นในภาพรวม โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ที่ส่วนใหญ่มีน้ำหนักมากในตลาดรวม เมื่อมาทำแบบนี้ในช่วงที่ตลาดหุ้นวิ่งในโซนล่าง ถือเป็นปัจจัยที่กดดันทางขึ้นของดัชนี

⦁ ปัจจัยใน-นอกรุมเร้า

ปัจจัยต่างประเทศยังมีอีกหลายเรื่องที่รอกดดันอยู่ข้างหน้า ได้แก่ 1.โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ใช้นโยบายแบบยังไม่แน่นอน แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการขู่ไว้ก่อน เพื่อให้ดุลการค้ากลับมาคืนมาบ้าง 2.การปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐ ที่หลายคนยังคาดหวังว่าจะได้เห็นการปรับลดลง แต่ขณะนี้โอกาสลดดอกเบี้ยสหรัฐมีน้อยลงเต็มที คาดไม่เกิน 1-2 ครั้งเท่านั้น แถมช่วงเวลาจะลดดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โมเมนตัมของสินทรัพย์เสี่ยงไม่ได้เซ็กซี่มากนัก ทำให้ภาพรรวมหุ้นไทยถูกกระทบทั้งปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ ที่ยังไม่ได้มีอะไรดีๆ ช่วยสนับสนุนออกมาเพิ่มเติม

โอกาสที่จะได้เห็นดัชนีปรับลดลงหลุดระดับ 1,200 จุดนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เท่าที่มองในช่วงที่ผ่านมา มาตรการของรัฐบาลยังไม่ได้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา แถมยังหักล้างความเชื่อมั่นที่มีอยู่ทิ้งไปด้วย ทำให้โอกาสในการถอยต่อยังมีอยู่เหมือนกัน เพราะช่วงที่ตลาดเป็นขาลงแบบนี้ ไม่มีปัจจัยบวกเข้ามามีแต่ปัจจัยลบ ดัชนีหุ้นยังถูกกระแทกให้สุดก่อน ตอนนี้ยังถอยลงมาไม่สุด ทั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกลุ่มธนาคาร (แบงก์) ที่ช่วยดึงดัชนีอยู่ แต่กลัวว่าระยะข้างหน้านี้ แบงก์อาจเป็นเซ็กเตอร์สุดท้ายที่ปรับฐานลง ทำให้หุ้นในภาพรวมปรับลดลงอีก ภาพนี้แอบน่ากลัวเหมือนกัน

การที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นอีกครั้ง สิ่งแรกเลยที่ผู้กำกับดูแลหรือรัฐบาลควรเร่งดำเนินการ คือ หยุดมาตรการที่จะทำลายตลาดก่อน เหมือนการทบทวนมาตรการ Short Sell จากนั้นจึงหามาตรการที่จะสนับสนุนเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น เน้นย้ำว่าต้องเป็นเม็ดเงินใหม่จริงๆ ไม่ใช่เพียงการหยุดเม็ดเงินเก่าที่จะไหลออกจากตลาด อย่างการโยกเม็ดเงินในกองทุนแอลทีเอฟ มาลงทุนในกองทุนไทยอีเอสจี ต้องกำหนดชัดเจนว่า ในระหว่างการลงทุนนี้สามารถได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีได้ แต่ห้ามโยกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น อาทิ พันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) นอกเหนือจากตลาดหุ้นเด็ดขาดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เน้นย้ำว่าต้องปิดโอกาสในการโยกย้ายกองทุนให้ได้ทุกประตู โดยต้องทำมาตรการที่ช่วยให้เม็ดเงินใหม่เข้ามาซื้อหุ้นไทยให้ได้จริงๆ หากทำได้แบบนี้จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยได้จริงๆ เช่นกัน

⦁ แย้งมาตรการตลท.

ด้าน นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในวันทำการล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภายหลังจากที่เมื่อวานปรับตัวลงร้อนแรงช่วงวันก่อนหน้า โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นปฏิกิริยาตอบรับหลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ประกาศมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่น โดยอนุญาตให้ทำการชอร์ตเซลได้เกือบเหมือนเดิม ยกเว้นหุ้นที่มีความผันผวนสูงจะถูกจำกัดการชอร์ตเซล

ประเมินมาตรการล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ออกมานั้น เบื้องต้น มีหลายมุมมองที่อาจยังไม่ค่อยเห็นด้วยมากนัก เพราะมองว่าการใช้มาตรการเฉพาะจุด (จำกัดการชอร์ตเซลเฉพาะหุ้นที่มีความผันผวน) ยังดูเป็นเรื่องตลก โดยเฉพาะการให้ใช้แค่วันเดียวหรือเฉพาะช่วงที่มีความผันผวนเท่านั้น การกลับมาอนุญาตให้ชอร์ตเซลได้อีกครั้ง อาจทำให้ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเดิมๆ ที่เคยมีบทเรียนมาแล้ว อาทิ การเก็งกำไรขาลง และการใช้โปรแกรมเทรด ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นอ่อนแอและปัจจัยพื้นฐานไม่ดีเช่นนี้ มองว่าการกลับมาอนุญาตให้ชอร์ตเซลอาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

“สาเหตุทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างร้อนแรง เป็นปัญหาหลักของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน คือ ประสิทธิภาพและการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมาไม่ดี โดยการเติบโตในปีนี้ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ขณะที่เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8% ส่งผลให้การลงทุนซึ่งขึ้นอยู่กับความคาดหวังในการเติบโต อาจไหลไปยังตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า” นายประกิตกล่าว

⦁ ตลท.งัดอาวุธคุมเข้ม

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศความคืบหน้ามาตรการกำกับดูแลการซื้อขาย เพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยได้ทบทวนการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดรับกับภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นชอบในแนวทางการปรับปรุงมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ และมาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ 1.มาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ 1.1 มาตรการ Uptick – มีแนวทางกำหนดให้ Short Sale ได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่อยู่ใน SET100 และมีราคาลดลงจากราคาปิดของวันก่อนหน้าถึงระดับที่กำหนด (เช่น x%) จะต้อง Short Sale ด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป (กรณีอื่นใช้เกณฑ์ Zero-plus Tick) 1.2 มาตรการ Dynamic Price Band สำหรับหุ้น-ชะลอการเริ่มดำเนินการเฟส 2 (จากเดิมจะประกาศใช้ภายในปีนี้) เพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลมาตรการต่อไป

2.มาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ 2.1 มาตรการกำกับดูแลโปรแกรมซื้อขายความถี่สูง (HFT)-ดำเนินมาตรการต่อไป แต่จะจำกัดให้ผู้ลงทุนกลุ่มโปรแกรมซื้อขายความถี่สูง ซื้อขายได้เฉพาะในหลักทรัพย์กลุ่ม SET100 เท่านั้น 2.2 มาตรการ Minimum Resting Time-ยกเลิกมาตรการ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง (เฮียริ่ง) ก่อนเสนอไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอความเห็นชอบและแก้หลักเกณฑ์ต่อไป โดยตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 3-4 เดือน หากผู้มีส่วนได้เสียเห็นด้วยในแนวทางดังกล่าว จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในไตรมาส 2/2568 โดยแนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์ครั้งนี้ เพื่อต้องการดึงความเชื่อมั่นกลับมา และสร้างเสถียรภาพ ซึ่งมีความพยายามปรับแก้มุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) โดยการนำมาตรการที่มีต่างๆ มาทบทวน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2569 และคาดว่าจะไม่มีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมแล้วหลังจากนี้ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น และสร้างความชัดเจนให้กับผู้ลงทุน

จากหลายปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นหล่นหายไป มาพร้อมเครื่องมือดึงความเชื่อมั่นกลับมา คงต้องลุ้นว่าน้ำหนักใดออกฤทธิ์ได้มากกว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image