นักเศรษฐศาสตร์-เอกชน อ่านใจกนง. ระทึกเคาะดอกเบี้ย 26 ก.พ.
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ถึงแนวโน้มการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่า หากมองจาก ภายนอก ซึ่งขณะนี้นโยบายของทรัมป์ กำลังสร้างความไม่แน่นอนทางสงครามการค้า อาทิ มาตรการตอบโต้ที่เป็นในลักษณะของ ‘การต่างตอบแทน‘ หมายความว่า “คุณเก็บภาษีผมเท่าไหร่ ผมจะเก็บภาษีคุณเท่านั้น” เช่น สหภาพยุโรปที่มาการเก็บภาษีรถยนต์ 10% ในขณะที่สหรัฐเก็บภาษีรถยนต์เพียง 2-2.5% ต่อไปสหรัฐก็จะเก็บภาษีรถยนต์จากสหภาพยุโรป 10% เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ทรัมป์ได้บอกว่า เขาจะเล่นงานทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ไทยเองก็ติดที่อันดับ 5 ในลิสต์นี้ ซึ่งทุกตัวอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ความไม่แน่นอน‘ ทั้งสิ้น
ฉะนั้นจะเห็นว่าสงครามการค้ามันเพิ่งจะเข้าสู่ยกที่ 2-3 เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องมองให้ชัดว่า ตกลงผลกระทบจากการดำเนินมาตรการของทรัมป์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไรบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งกรณีนี้ กนง. ก็คงจะต้องคอยจับตาดูสงครามการค้าว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด และหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ คิดว่ากนง.จะชะลอเรื่องการลดดอกเบี้ยลง เพื่อรอดูให้แน่ชัดถึงผลกระทบที่ไทยจะได้รับ
ขณะเดียวกัน หากมองจาก ภายใน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองอยากให้ลดดอกเบี้ยลงอีกสักหน่อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนนี้มองว่าหากลองชั่งน้ำหนักดู ก็คิดว่า กนง. คงจะชะลอการลดดอกเบี้ยลงเพื่อรอดูสถานการณ์ที่แน่ชัดมากกว่า อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นการเตรียมกระสุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและไทยยังไม่เด่นชัด ซึ่งหมายความว่า ‘คงดอกเบี้ยไว้ก่อน’

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่กนง.จะยังไม่เคาะลดหรือลดเบี้ยใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ใช่ แต่ส่วนตัวคิดว่าปีนี้ลงแน่ เพียงแต่ต้องรอดูสงความการค้าให้แน่ชัดก่อน มองว่าในปีนี้จะมีการลดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงขั้นปั่นป่วน เพราะหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ก็อาจจะทำให้เกิดการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ ณ ขณะนี้ธนาคารกลางของสหรัฐ ยังคงอยู่ในขั้นตอนรอดูให้ชัดเพื่อที่จะเก็บกระสุนเอาไว้ แล้วถ้าหากว่าไม่ได้ร้ายแรงจนเกินไป กรณีนี้คิดว่ามีแนวโน้มที่ในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปจะมีการปรับลดดอกเบี้ยงลง
“พูดง่าย ๆ ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในขาลง เพียงแต่ว่าเพื่อความแน่นอน จากเศรษฐกิจโลกยังมีความปั่นป่วน จากนโยบายทรัมป์ที่ยังไม่ค่อยเด่นชัดนัก คงจะเรียกว่ารอดูสถานการณ์เตรียมกระสุนไว้อีกสักนิดก็แล้วกัน ฉะนั้น ยังคิดว่าในการประชุมครั้งนี้คงอาจจะยังชะลอตัวอยู่ ชะลอการลงอยู่” นายสมชาย กล่าว
แสดงว่าการประชุมในครั้งนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการ ลดดอกเบี้ย ใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนนี้ยังคงไม่เด่นชัดว่าจะลดดอกเบี้ยลงหรือไม่ ตนมองว่า 60% น่าจะมีการชะลอเพื่อรอดูสถานการณ์ 30-40% น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่าขณะนี้ดอกเบี้ยอยู่ในขาลงแล้ว แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้ แต่ ณ ตอนนี้ ตนมองว่าทางแบงก์ชาติอาจจะชะลอเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากช่วงไตรมาส 2 ที่จะถึง มาตรการของทรัมป์จะเริ่มส่งผลกระทบเด่นชัดขึ้น
เมื่อถามว่า แสดงว่าในการประชุมครั้งถัด ๆ ไปก็อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงใช่หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า “ใช่ครับ” เพราะสถานการณ์ไม่เลวร้ายจนเกินไป ตอนนี้ดอกเบี้ยทั่วโลกต่างอยู่ในขาลง เพียงแต่ เงินเฟ้อ ของสหรัฐยังมีทีท่าจะสูงขึ้น ทำให้ทุกประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องรอดูสถานการณ์ แต่ทุกคนยอมรับว่าแนวโน้มดอกเบี้ยตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากตัวดอกเบี้ยของสหรัฐเริ่มบดลงมาตั้งแต่เดิม 10% ตอนนี้ลงมาแทบจะเหลือ 2.7% ส่วนยุโรปก็ลดดอกเบี้ยมา 2-3 ครั้งแล้ว ฉะนั้นทุกประเทศต่างมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง เพียงแต่รอดูสถานการณ์ให้ชัดเท่านั้น
“เรื่องนี้มันมีการมองบางแห่งก็มองว่าน่าจะมีการลดลง โดยเฉพาะภาครัฐหรือเอกชนก็คงอยากให้มีการลดลง แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่าถ้ามองจากกนง.เขาก็ลดลงไปครั้งหนึ่งแล้ว ประกอบกับขณะนี้โลกมีความไม่แน่นอนปั่นป่วน ตรงนี้ก็เป็นองค์ประกอบอันหนึ่ง ที่จะทำให้การลดดอกเบี้ยชะลอตัวลง เพียงแต่แนวโน้มมันมีที่จะรอดูไปก่อน แต่ว่าดอกเบี้ยในปีนี้โดยทั่วไปคงยังอยู่ในขาลง แต่ตอนนี้อาจจะเพียงชะลอดูไปอีกสักพักหนี่งเท่านั้นก่อน” นายสมชาย กล่าว
ด้าน นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่า ในมุมของผู้ประกอบการ การลดดอกเบี้ย ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประกอบกิจการ โดยเฉพาะกับกลุ่ม SME ที่ทุกวันนี้มีสินค้าราคาถูกเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ มิหนำซ้ำ อนาคตก็จะต้องประสบกับปัญหาจากนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศไว้ว่าจะตั้งกำแพงภาษีให้กับประเทศที่ได้ดุลการค้า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะส่งผลต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย
เมื่อผู้ประกอบการต้องผจญกับปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าอยู่รอบด้านนี้เอง การลดดอกเบี้ย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกัน เงินใหม่ ทางสถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ส่วน เงินเก่า ที่เป็นหนี้อยู่ หากสถาบันการเงินไม่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการลดดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความยากลำบาก
นายอภิชิต กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการ SME ถือเป็นนักรบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ถ้ามีอะไรที่พอจะสามารถช่วยลดทุนให้เขาได้ ก็จะเป็นความช่วยเหลือที่ดี เพราะอย่าลืมว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางจังหวัด ที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยบางพื้นที่มีการปรับขึ้นในอัตราที่สูงที่สุด คือ 400 บาท ส่วนนี้ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ พอสมควร ซึ่งหากเราลองมองดูแล้วจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ กระแสเรื่องการลดโลกร้อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งในด้านนวัตกรรมและสินค้า ซึ่งแม้ว่าในอนาคตจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ริเริ่มทำก่อน แก้ไขก่อน แต่ถึงอย่างไรในเบื้องต้น ผู้ประกอบการก็ยังต้องมีทุนทรัพย์ในการลงทุนก่อนอยู่ดี
“ถ้ามีการลดดอกเบี้ย ก็อาจจะทำให้เขามีโอกาสสร้างงาน จ้างงานเพิ่มมากขึ้น เหมือนช่วยต่อลมหายใจเขายังสู่ต่อได้ ช่วยเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการยังคงสู้ต่อในเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะลำบากช่วงนี้ได้” นายอภิชิต กล่าว
เมื่อถามว่า หากกนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลดีกับภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าใช่หรือไม่ นายอภิชิต กล่าวว่า “ใช่ เพราะในมุมของผู้ประกอบการที่มีหนี้ แน่นอนว่าต้องอยากได้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว”
ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทางกนง.จะหันไปตรึงดอกเบี้ยตามกระแสของเศรษฐกิจโลกแทน นายอภิชิต กล่าวว่า ประเด็นนี้อาจจะต้องมองในองค์รวม แต่อย่างไรก็ดีอยากให้ลองพิจารณาดูก่อน อาจจะมีการออกเป็นแพคเกจหรือจัดเป็นกลุ่มว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะถ้ามองในภาคผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ วันนี้ต้นทุนทางการเงินมีความสำคัญ ถ้าต้นทุนทางการเงินลดลง อย่างน้อยก็เหมือนช่วยต่อลมหายใจให้เขาสามารถกัดฟันทำงานต่อได้