ขสมก. เตรียมลุยประมูล เช่า รถเมล์ไฟฟ้า 1,520 คัน พร้อมให้บริการ ล็อตแรก ส.ค.68 นี้

ขสมก. เตรียมลุยประมูล เช่า รถเมล์ไฟฟ้า 1,520 คัน พร้อมให้บริการล็อตแรก ส.ค.68 นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ขสมก. เตรียม เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติโครงการการจัดหาเช่ารถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) ระยะที่ 1 จำนวน 1,520 คัน วงเงิน 15,355 ล้านบาท จะใช้งบประมาณผูกพัน 7 ปี ระหว่างปี 2568-2575 ดำเนินการในรูปแบบเช่าผ่านการประมูลแบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ระยะสัญญาเช่า 7 ปี

ภายหลังจากผ่านขั้นตอนขอความเห็นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงต้นเดือน มีนาคม 2568

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาจัดหาผู้ประกอบการแล้วเสร็จภายใน 55 วัน คาดว่าจะลงนามสัญญาเช่าภายในเดือน เมษายนนี้ และทยอยรับรถล็อตแรกจำนวน 500 คันในเดือน สิงหาคม 2568

ADVERTISMENT

โดยมีแผนจะนำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางเขตเมืองฯ เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่วนล็อตที่ 2 จะทยอยรับมอบในช่วงปลายปี 2568 และจะครบ 1,520 คันภายในปี 2569

สำหรับ การเช่ารถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) ในครั้งนี้ เพื่อทดแทนรถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ของ ขสมก. พร้อมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และการซ่อมบำรุง คาดการณ์ว่าจะสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 70% ซึ่งจะทำให้ ขสมก. สามารถชำระหนี้สะสมคืนให้ภาครัฐมูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาทภายในไม่เกิน 7 ปี โดยในการส่งมอบรถนั้น เอกชนผู้ชนะการประมูล จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียน จัดรูปแบบรถ สีของรถตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด และเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย

ADVERTISMENT

ด้าน นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขสมก.มั่นใจว่าเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรถเมล์เป็นพลังงานไฟฟ้าจะส่งผลบวกต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายของ ขสมก.ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการรับมอบรถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าหรือ EV ล็อตแรกจำนวน 1,520 คัน จะนำมาให้บริการทดแทนรถเมล์เก่าที่มีอายุกว่า 30 ปี ดังนั้นจะทำให้ ขสมก.ประหยัดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงทันที

ขณะเดียวกัน ขสมก.ยังผลักดันการจัดหารถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) ในระยะต่อไปอีก 1,520 คัน เพื่อทำให้รถเมล์ของ ขสมก.เป็นรถเมล์พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 หรือ PM2.5 และทำให้ค่าใช้จ่ายของ ขสมก.ปรับลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดหารถเมล์ในระยะที่ 2 จะดำเนินการในรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งปัจจุบันสถานะของโครงการ กระทรวงคมนาคมมีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้บรรจุโครงการนี้อยู่ใน การทำงานแบบไปป์ไลน์ (Project Pipeline) แล้ว

โดยการจัดหารถเมล์ระยะที่ 2 จะขอรับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (กองทุน PPP) เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาโครงการนี้ พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมรูปแบบร่วมทุนระหว่างรูปแบบ PPP Net Cost หรือรูปแบบ PPP Gross Cost คาดว่าภายในปีนี้จะเห็นเป็นรูปธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image