ส่งออก ม.ค.โต13.6% แต่ ข้าว-ผลไม้-เครื่องดื่ม-มัน หดตัว เอกชนเตือน ขาดดุลจีน

ส่งออกประเดิมเดือนแรก ม.ค.โต13.6% โอกาสไตรมาสแรกบวก10% เอกชนเตือนรับมือ2 ปม เทรดดิว-ขาดดุลจีน 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2568 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยมีมูลค่า 25,277 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% คิดเป็นเงินบาท 862,367 ล้านบาท ขยายตัว 11.8 % หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.4 โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว3.3% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตและผู้บริโภค นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.9% คิดเป็นเงินบาท 938,112 ล้านบาท ขยายตัว 6.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,880.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ขาดดุล 75,746 ล้านบาท

ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.1 % โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3% ขณะที่สินค้าเกษตร หดตัว 2.2% สินค้าที่ขยายตัว อาทิ ยางพารา ขยายตัว 45.5% กลุ่มสินค้าไก่ขยายตัว 12.3% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 11.8% เป็นต้น

ADVERTISMENT

ส่วนสินค้าหดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 32.4% กลุ่มผลไม้ หดตัว 11% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 7.9% กลับมาหดตัวอีกครั้ง เครื่องดื่ม หดตัว16% เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 17 % อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ ขยายตัว 45 % อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 148.8 % ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 19.9% เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และ ส่วนประกอบ หดตัว 16.5% ต่อเนื่อง 2 เดือน กลุ่มเหล็ก หดตัว 18.6% เครื่องโทรศัพท์ หดตัว16.8% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 38.2 % หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน เป็นต้น

ADVERTISMENT

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก ประกอบกับตามความต้องการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้น ท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงของนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสหรัฐฯ ขยายตัว 22.4% จีน 13.2% ญี่ปุ่น 1.9% สหภาพยุโรป (27) 13.8 %อาเซียน (5) 4.8% และ CLMV 5.2 %แอฟริกา13.9% ลาตินอเมริกา 21.6% และสหราชอาณาจักร 9.8 % เป็นต้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มส่งออกจะขยายตัวบวก อาจเกิน 2 หลักได้ต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เพราะมีปัจจัยหนุนจากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้า นโยบายทรัมป์ 2.0 ในด้านการปรับภาษีนำเข้า และความไม่ชัดเจนของนโยบายที่จะออกมาจากนี้ ส่งผลต่อความไม่แน่นอนการค้าโลก และทำให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าที่ประเทศนั้นยังต้องพึ่งพานำเข้าในอัตราที่สูง ส่วนการนำเข้าสูงกว่าส่งออก เมื่อพิจารณาแล้วจะเป็นกลุ่มทุน วัสถุดิบเพื่อการผลิตส่งออก และกลุ่มพลังงาน ที่มีสัดส่วนรวมถึง 80% ซึ่งไม่มีนัยะสำคัญที่จะกังวลสินค้าสำเร็จรูปทะลักเข้าไทย อีกทั้งตลาดส่งออกไปสหรัฐและจีนที่เป็นตลาดใหญ่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

“กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายผลักดันมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 25,000-26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปี 2568 ส่งออกขยายตัว 2-3% โดยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิต สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางที่เริ่มคลี่คลาย ดัชนีราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน” นายพูนพงษ์ กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ขณะที่ ปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ สถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงตึงเครียด ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ในสหรัฐฯ ผลกระทบจากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือ ตลอดจนผลกระทบจากมาตรการทางการค้าต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการค้า กระจายความเสี่ยงด้านตลาด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่ท้าทาย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ส่งออกเดือนแรกของปี 2568 บวกได้ 13.6% ถือเป็นจุดเริ่มต้นปีที่ดี ที่มีโมเมนตัมดีขึ้นต่อจากปลายปี 2567 ซึ่งความกังวลต่อสงครามการค้าก็มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ไทยยังเจอผลเสียที่ชัดเจน ตลาดส่งไปสหรัฐและจีนยังดี แม้ค่าระวางเรือจะทรงตัวในราคาสูงเกิน 6 พันเหรียญสหรัฐ

“แนวโน้มส่งออกไตรมาสแรกปีนี้น่าจะโตเฉลี่ยได้ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็จะทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ โอกาสขยายตัวได้ 7-10 % ส่งออกที่เรากังวลคือไตรมาสสอง จะชัดเจนมากขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 และแนวโน้มสหรัฐจะใช้เทรดวอร์เป็นเทรดดิวหรือใช้การเจรจาเป็นหลัก สำหรับประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ต้องยอมรับว่าจะเป็นแรงกดดันการค้าโลก และการส่งออกของไทยจากนี้ และอยากให้ดูเรื่องไทยเสียดุลการค้ากับจีนด้วย ซึ่งพบว่ามีมูลค่าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และจะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง 2568 จะเกิดความชัดเจนในหลายประเด็นที่จะมีผลต่อทิศทางการแข่งขันและการส่งออกทั่วโลก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเร่งติดตามและรับมือ ” นายชัยชาญ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image