ขณะที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังจดจ่อกับผลแรงกระเพื่อมของคำสั่งและนโยบายที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะออกมาอย่างไร ประเทศใดได้ประเทศใดเสีย รวมถึงสินค้าชนิดใดมีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงต่อที่ไม่อาจแข่งขันหรือส่งออกได้
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ข้าว มันสำปะหลัง หรือรถยนต์สันดาป กลุ่มอาหารอนาคตไทย ก็เป็นอีกกลุ่มที่ติดตามว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ให้ความเห็นไว้ว่า
อาหารจากพืช หรือ Plant-based Food ถูกจัดเป็นประเภทหนึ่งในอาหารอนาคตของไทย อาหารอนาคต คืออาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักได้แก่ อาหารเครื่องดื่มสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น(Functional Food & Functional Ingredients), อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (Medical & Personalized Food), ผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ไม่ปรุงแต่ง (Organic Food) และสุดท้าย โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) โดยอาหารจากพืชหรือ Plant-based Food จะกระจายตัวอยู่ในกลุ่มของโปรตีนทางเลือกและผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ไม่ปรุงแต่ง
โดย Plant-based Food ยังสามารถจัดจำแนกออกได้เป็นอีก 7 ประเภทย่อย คือ 1.Plant Protein หรือโปรตีนจากพืช ยกตัวอย่างได้เช่น โปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว โปรตีนจากเมล็ดพืชและธัญพืช เช่น ควินัว, ข้าวโอ๊ต และสุดท้ายโปรตีนทางเลือกจากพืช เช่น ผำ เทมเป้ เห็ด 2.Plant-based Dairy Alternative หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมจากพืช เช่น นมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง, นมข้าวโอ๊ต หรือแม้กระทั่งโยเกิร์ตจากมะพร้าว, ชีสจากถั่วแคชิว 3.Fruits & Vegetables คือกลุ่มผักใบเขียวและผลไม้ 4.Whole Grains หรือธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวโอ๊ต, ควินัว
5.Nuts & Seeds ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์, วอลนัท, เมล็ดทานตะวัน 6.Plant-beased Oil & Fats น้ำมันและไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันอโวคาโด และประเภทสุดท้าย 7.Plant-based Sweeteners สารให้ความหวานจากพืช เช่น น้ำผึ้ง, หญ้าหวาน, น้ำตาลมะพร้าว เป็นต้น
แนวโน้มในการบริโภคอาหารจากพืช ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ.2015 หากย้อนรอยดูเทรนด์อาหารตั้งแต่ ค.ศ.2000 ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ ต่อมากระแสการบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based Food) มีความชัดเจนขึ้นใน ค.ศ.2011 และกลายเป็นกระแสที่ได้รับการพูดถึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะเทรนด์การบริโภค Plant-based Food ที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นในท้องตลาด จากการสำรวจของ Markets and Markets คาดการณ์ว่าอาหารจากพืชจะเติบโตมากถึง 2.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 14% ทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยได้มีการคาดการณ์ไว้ที่ 1.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตอยู่ที่ 9.2% ภายในปี ค.ศ.2025
โดยในปี ค.ศ.2024 มูลค่าการส่งออกของอาหารอนาคตไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 334,700 ล้านบาท โดยหากเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มอาหารจากพืช กลุ่มที่มีการส่งออกมากที่สุดในปี ค.ศ.2024 คือกลุ่มโปรตีนทางเลือก ได้แก่จำพวก โปรตีนจากพืชและผลิตภัณฑ์ทดแทนนมจากพืช โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดในกลุ่มอาหารจากพืช ได้แก่ นมถั่วเหลือง มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3,771 ล้านบาท ตลอดปี ค.ศ.2024 และอันดับที่สองคือนมจากถั่วอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,137 ล้านบาท
Plant-based Food ยังคงมีความท้าทายและอุปสรรคให้ก้าวข้าม เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยอาจส่งผล ให้ราคาวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กระทบไปจนถึงการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค นอกเหนือจากการผันผวนของเศรษฐกิจโลกแล้วอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของรสชาติและส่วนประกอบของอาหารจากพืช ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะหันมาสนใจ Plant-based Food มากยิ่งขึ้นแล้วก็ตาม แต่จำนวนไม่น้อยของผู้บริโภคยังคงมีปัญหากับรสชาติของอาหาร Plant-based เนื่องจากมีการเปรียบเทียบรสชาติกับอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์จริง รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอีกหนึ่งข้อคือการใส่ใจในวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นจากปกติ หากสินค้าชนิดนั้นใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี ดังนั้น จึงเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการกลุ่มอาหาร Plant-based ต้องให้ความสนใจเพื่อนำไปปรับให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อนาคตของสินค้า Plant-based Food ยังมีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเห็นสินค้า Plant-based Food เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงรสชาติและราคา และการปรับรูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น Plant-based Meat ยังคงเติบโตได้ในอนาคต คาดการณ์ตลาดของ Meat Alternatives ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% (คาดการณ์ช่วง ค.ศ.2024-2028) โดยตลาดหลักอยู่ที่ภูมิภาคยุโรป ตามด้วยเอเชียแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ โดยในปี 2023 มูลค่าตลาดของเนื้อสัตว์จากพืช ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 10.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขนี้คาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้าและสูงถึงประมาณ 16.78 พันล้านดอลลาร์ ใน ค.ศ.2028 Plant-based Milk เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตส ที่เกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ เป็นอาการทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมวัวหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพรวมถึงผู้ที่รับประทานมังสวิรัติแบบวีแกนได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยคุณประโยชน์ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางสารอาหารของธัญพืชนั้นๆ จึงทำให้ Plant-based Milk ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
แนวโน้มการเติบโตของตลาดนมจากพืชในไทย คาดจะเติบโตอัตราการเฉลี่ยต่อปี 4% ในปี ค.ศ.2023-2027 โดยปี ค.ศ.2024 คาดว่ามูลค่าการตลาดอยู่ที่ 19,926 ล้านบาทขณะที่ขนาดของตลาด Plant-based Milk ทั่วโลกมีมูลค่า 29.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2023 คาดอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 12.6% ตั้งแต่ปี ค.ศ.2024-2030 Plant-based Milk กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น และจำนวนของผู้มีอาการแพ้แลคโตสเพิ่มขึ้น โดยนมถั่วเหลืองครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคมีความคุ้นเคย และรู้จักมาอย่างยาวนาน ส่วนนมอัลมอนด์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่เยาวชนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ นอกจากนั้น ยังมีนมจากพืชอีกหลายประเภท อาทิ นมข้าวโอ๊ต นมข้าวกล้องนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงกะทิ ก็ได้รับความนิยมทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดหลักของผลิตภัณฑ์ Plant-based Milk คือเอเชียแปซิฟิกซึ่งครองรายได้กว่า 45% ทั่วโลก ตามด้วยตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป ตามลำดับ Plant-based Milk มีจำหน่ายในรูปแบบนม แล้วยังอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย โยเกิร์ต ครีม และยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวานซึ่งเห็นได้มากขึ้นในร้านอาหารและร้านคาเฟ่
นอกเหนือจาก Plant-based Meat และ Milk แล้ว อีกหนึ่ง Plant-based Food ที่น่าจับตามองและจะได้รับการผลักดันจากสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยมากขึ้นในปีนี้ ได้แก่ ผำ หรือ Wofflia ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Super Food ของประเทศไทย ที่จะมีการผลักดันให้เป็นหนึ่งในซุปเปอร์ฟู้ดของโลก ผำเป็นพืชน้ำที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์หลากหลายองค์ประกอบทางโภชนาการของผำพบว่ามีโปรตีน เบต้า-แคโรทีน และคลอโรฟิลล์จากการสังเคราะห์แสง อีกทั้งยังมีปริมาณโปรตีนที่สูง ซึ่งสามารถจัดอยู่ในระดับเดียวกับเมล็ดถั่วชนิดต่างๆ เมล็ดธัญพืช รวมถึงยังมีเส้นใยสูง มีปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นไม่ต่างกับไข่ไก่ สาหร่ายเกลียวทอง และคลอเรลลา
นอกจากนี้ คลอโรฟิลล์ในผำยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มากกว่าในสาหร่ายเกลียวทอง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการผลักดัน Plant-based Food ของสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย