ย้อนรอย 18 ปี อุบัติเหตุบัส 2 ชั้น ดับหลายร้อย ล่าสุดสังเวยอีก 18 ความสูญเสียที่ไม่เคยเรียนรู้
กรณีโศกนาฏกรรมรถบัสคณะดูงานเทศบาลตำบลพรเจริญ จ.บึงกาฬ เสียหลักพลิกคว่ำทางลงเขาศาลปู่โทน จ.ปราจีนบุรี ขณะเดินทางไปยังจ.ระยอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 รายและบาดเจ็บอีก 40 กว่าราย สภาพรถบัสคันดังกล่าวพังยับเยิน หลังคาฉีกขาด ผู้โดยสารหลุดออกนอกรถจำนวนมาก บ้างก็ถูกซากรถทับสาหัส เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์
นับเป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ “รสบัสสองชั้น” ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยมาต่อเนื่องหลายปี กระทั่งภาคประชาสังคมก็เคยร่วมมือเสนอให้ “ยกเลิก” การให้บริการโดยสารรถบัสสองชั้น หรือรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นมาแล้ว
ตัวอย่างอุบัติเหตุเพียงบางส่วนที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน (18 ปี) มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายร้อยชีวิต เช่น
– 19 มกราคม 2550 รถบัส 2 ชั้น นำคณะครู จ.จันทบุรี ชมงานพืชสวนโลก พลิกคว่ำบนทางโค้งลงเนินลาดชัน เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บกว่า 30 คน
– 10 ตุลาคม 2551 รถบัส 2 ชั้น คณะนักศึกษา จ.ขอนแก่น แหกโค้งลงเขา เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 27 คน
-28 กุมภาพันธ์ 2557 รถบัส 2 ชั้น คณะนักเรียน จ.นครราชสีมา ชนรถพ่วง 18 ล้อ เสียชีวิต 17 คน บาดเจ็บ 45 คน
– 9 มีนาคม 2560 บัสทัศนศึกษา 2 ชั้น ตกเหวหน้าศาลเจ้าพ่อโทน จ.ปราจีน ครู-นักเรียน เสียชีวิต 6 ศพ บาดเจ็บครึ่งร้อย
– 21 มีนาคม 2561 บัส 2 ชั้น คณะทัวร์ จ.กาฬสินธุ์ เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนพลิกคว่ำ เสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 32 คน
– 3 มิถุนายน 2566 บัส 2 ชั้นพาคณะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านดูงาน เสียชีวิต 2 ราย เจ็บอีก 30 กว่าคน
จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เผยว่า ในปีพ.ศ. 2567 มีผู้จดทะเบียนรถโดยสารประจำทาง 54,185 คัน และ รถโดยสารไม่ประจำทาง 57,792 คัน
ขณะที่ สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด ในปี 2567 จำนวน 208 คัน โดยแบ่งเป็น รถโดยสารชั้นเดียว จำนวน 69 คัน/ครั้ง (33.17%) รองลงมาได้แก่ รถโดยสารสองชั้น จำนวน 61 คัน/ครั้ง (29.33%) รถตู้โดยสาร จำนวน 59 คัน/ครั้ง (28.37%) รถโดยสารสองแถว จำนวน 14 คัน/ครั้ง (6.73%) รถมินิบัส จำนวน 3 คัน/ครั้ง (1.44%) และไม่ระบุ จำนวน 2 คัน/ครั้ง (0.96%)
จะเห็นได้ว่า รถโดยสารสองชั้น มีจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุไม่ต่างจากรถโดยสารชั้นเดียวมากนัก ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ไว้ว่า “รถบัสสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่ารถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสสองชั้นนั้นก็สูงกว่ารถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า หรือกล่าวได้ว่า “การเดินทางด้วยรถบัสสองชั้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ได้เช่นเดียวกัน
ทำไม รสบัสสองชั้น ถึงเสี่ยงอุบัติเหตุมากกว่าชั้นเดียว
ในทางวิศวกรรมอธิบายปัญหาของตัว รถบัสสองชั้น ตามหลักการ ไว้ดังนี้
1. ปัญหาการพลิกคว่ำของรถบัสสองชั้น ที่มีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่ารถบัสชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถบัสชั้นเดียวทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถบัสสองชั้นและน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน
2. ปัญหาความแข็งแรงของรถบัสสองชั้น ที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ไม่มีการคำนึงถึงมาตรฐานของความปลอดภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สภาพตัวรถจะบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุดกระจัดกระจาย และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง
3. นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่รถบัสชั้นเดียวก็ประสบเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปัญหาระบบเบรกลม ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะรถวิ่งลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง และปัญหาการไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยหรือติดตั้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
แต่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถบัสสองชั้น น่าจะเป็นที่มิติของตัวรถ หรือความสูงของตัวรถบัสสองชั้น โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่ และสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง จะทำให้รถบัสสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย
จี้ทบทวนมาตรฐานความปลอดภัย
ในด้านข้อกำหนดของทางภาครัฐ ย้อนไทม์ไลน์ไปเมื่อปี 2555 กรมการขนส่งทางบก ประกาศให้รถที่มีความสูงเกินกว่า 3.60 เมตร จะต้องเข้าทดสอบการวิ่งบนพื้นลาดเอียง 30 องศา มีรถบัสเข้ารับการทดสอบ 7,118 คัน ผ่านการทดสอบเพียง 1,184 คัน ส่วนอีก 5,934 คัน ไม่ผ่านการทดสอบ แต่ยังได้รับการอนุโลมให้วิ่งบริการต่อไปได้ ต่อมาจึงกำหนดให้รถบัสทุกคันต้องติดตั้ง GPS เพื่อบอกตำแหน่งรถให้ชัดเจนว่า ให้บริการอยู่ในพื้นที่ใด
ปี 2559 กรมการขนส่งทางบก ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมว่า รถโดยสารขนาดใหญ่ที่จะจดทะเบียนใหม่ “ต้องมีความสูงไม่เกิน 4 เมตร” มีผลบังคับใช้วันที่ 19 มีนาคม 2560 ส่วนรถบัส 2 ชั้นเดิมที่มีความสูงเกินกว่า 4 เมตร จะไม่ต่อใบอนุญาตให้อีกแล้ว
ฉะนั้น รถบัสสองชั้น ที่ยังวิ่งให้บริการอยู่จะวิ่งไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุของใบอนุญาตของแต่ละคัน ซึ่งคาดว่า จะหมดไปในปี 2570 ในจุดนี้สะท้อนว่ามุ่งเน้นการจัดการกับกลุ่มรถจดทะเบียนใหม่ที่ควบคุมได้ง่ายกว่า
ภาคประชาสังคม จึงเรียกร้องให้ทบทวน “มาตรฐานความปลอดภัยของโครงสร้างรถโดยสารสองชั้น” ว่ามีความเหมาะสมต่อการให้บริการและความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ โดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือตรวจสอบได้ว่ารถโดยสารสองชั้นคันดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วกี่ปี ผ่านการตรวจสภาพรถประจำปีเมื่อไหร่
ใช้บริการรถบัสยังไงให้ปลอดภัยที่สุด
แล้วจะเลือกโดยสารรถบัสอย่างไรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยที่สุด สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ “เลือกใช้บริการในการเดินทางระยะสั้น และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีความเสี่ยง”
– เลือกใช้บริการรถรถโดยสาธารณะ ป้ายเหลือง ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพรถ มีประตูทางออกฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง อย่างน้อย 2 ถัง
– ติดตั้งบริเวณด้านหน้าใกล้คนขับ และด้านหลังห้องโดยสาร
– ติดตั้ง GPSTracking บ่งชี้ตัวตนคนขับรถ ติดตามพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน
– ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ทุกที่นั่ง มีจุดยึดที่นั่งแข็งแรง ได้มาตรฐานความปลอดภัย
– พนักงานขับรถที่ชำนาญเส้นทาง มีใบอนุญาตขับรถ ถูกต้องตรงตามประเภท
‘ประมาท’ สาเหตุหลักอุบัติเหตุรถโดยสาร ขับจี้-หลับใน ตามติดๆ
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่นว่า ในอุบัติเหตุทั้ง 208 ครั้งในปี 2567 พบว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 1. ช่วงเวลา 08.01-12.00 น. 2.ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. และ 3.ช่วงเวลา 04.01-08.00 น. ตามลำดับ
ส่วนสถานที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2567 ดังนี้ 1.นครราชสีมา 2.กรุงเทพมหานคร 3.พระนครศรีอยุธยา 4.ชุมพร 5.ขอนแก่น 6.ชลบุรี 7.ร้อยเอ็ด 8.กระบี่ 9.อุดรธานี และ 10.ฉะเชิงเทรา
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะสะสม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2567 พบว่า 3 สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุล้วนเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับรถ โดยในลำดับที่ 1 คือ “ขับรถด้วยความประมาท” คิดเป็น ร้อยละ 27.47 (253 ครั้ง) ลำดับที่ 2 คือ “ขับตามหลังในระยะกระชั้นชิด” คิดเป็นร้อยละ 9.66 (89 ครั้ง) และ ลำดับที่ 3 คือ “หลับใน” คิดเป็นร้อยละ 8.79 (81 ครั้ง)
ที่มา : สภาองค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย, กรมขนส่งทางบก, สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (สนภ.)