การบินไทย เปิดรายชื่อ กรรมการบริษัทใหม่ 9 คน ชง ลวรณ-กุลยา พร้อมเดินหน้าออกแผนฟื้นฟู
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานะแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ขณะนี้ เหลือขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายในวันที่ 18 เมษายน 2568 หลังผู้ถือหุ้นอนุมัติ โดยบริษัทจะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าจะออกได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 และจะสามารถกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในภายในเดือนมิถุนายนของปี 2568 นี้
โดย บริษัทได้ประกาศมติที่ประชุมคณะผู้บริหารแผน ครั้งที่ 6/2568 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 อนุมัติให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม (Record Date) ในวันที่ 14 มีนาคม 2568
สำหรับวาระสำคัญในการประชุมรวมถึงการพิจารณาอนุมัติจำนวนกรรมการบริษัทชุดใหม่ จำนวน 11 คน ประกอบด้วยกรรมการปัจจุบัน 3 คน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และ พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย
พิจารณารายนามกรรมการใหม่ทั้งหมด 9 ราย ได้แก่
1.นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง
2.นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
3.นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก
4.พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ
5.นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร
6.นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด
7.นายสัมฤทธิ์ สำเนียง อดีตผู้บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
8.นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร ตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด
9.นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของการบินไทย
ทั้งนี้ ภายหลังจากบริษัทได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว และได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทจะดำเนินการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการ และการแต่งตั้งจดทะเบียนกรรมการใหม่ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป
นอกจากนี้ การบินไทยยังแจ้งมติของที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนซึ่งอนุมัติการลดทุนด้วยการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้น THAI เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชี ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยลด Par Value จากหุ้นละ 10.00 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัท ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทแต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัท อีกทั้งไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท
รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากในอนาคต บริษัทต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป
สำหรับผลประกอบธุรกิจประจำปี 2567 ของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมกว่า 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 26,922 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7% อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 26,901 ล้านบาท เกิดจากผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัทดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม และส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงาน หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Cash Lease) ตามงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับงวด 12 เดือนย้อนหลังเท่ากับ 41,473 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาท ในปี 2566 หลักๆ เกิดมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมดไป และทำให้บริษัทพร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 79 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ จำนวน 59 ลำ และ 20 ลำตามลำดับ โดยตารางบินฤดูหนาว ประจำปี 2568 ของบริษัท วางแผนทำการบินไปยัง 64 จุดบินเช่นเดียวกับในปี 2567 แต่มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปี 2567 ที่มี 843 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางบินยอดนิยม รวมถึงรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป