นบข.เคาะจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ช่วยการผลิตนาปรัง จับตาครม. 4 มี.ค. อนุมัติ 2.8 พันล้าน

นบข.เคาะจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ช่วยการผลิตนาปรัง จับตาครม. 4 มี.ค. อนุมัติ 2.8 พันล้าน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมถึงตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรชาวนา ร่วมประชุม ที่กระทรวงการคลัง

ภายหลังประชุม เวลา 16.30 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมฯว่า เพื่อเป็นการแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นำเสนอมาตรการตามข้อเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกรทุกมาตรการ โดยที่ประชุม นบข. พิจารณาและเห็นชอบร่วมกันในการมาตรการการสนับสนุนช่วยเหลือชาวนา ในช่วงการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวนาปรังของประเทศ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท และครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรวางแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังบางส่วนไปปลูกพืชอื่นที่ให้มูลค่าสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น

นายพิชัย กล่าวว่า จากนี้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสม เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป และจัดสรรงบประมาณต่อไป โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนการดำเนินการด้านการพัฒนาการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในด้านการตลาดข้าวทั้งภายในและต่างประเทศ ได้อย่างยั่งยืน

ADVERTISMENT

” การประชุมนบข.ได้มีการพิจารณาหลายๆมาตรการที่มีอยู่รวมถึงได้พิจารณาถึงข้อจำกัด ข้อดีและข้อเสียทั้งหมด จึงมองว่ามาตรการนี้ ( ไร่ละ 1000 บาท จำนวน 10ไร่ต่อครัวเรือน จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้โดยตรงที่สุด ”

นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้มีมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป้าหมาย 500,000 ตัน ร่วมกับสมาคมข้าวถุง จัดทำข้าวถุงจากข้าวนาปรัง ส่งข้าวถุงให้ห้างค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ร้านค้าท้องถิ่นดึงอุปทานออกจากตลาด ในส่วนของการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศ ขอความร่วมมือ EXIM Bank พิจารณาจัดสรรสินเชื่อพิเศษให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าว เพื่อกระตุ้นการรับซื้อและเก็บสต็อกข้าวจากเกษตรกร  และเร่งรัดการซื้อขายตามสัญญากับประเทศจีน ปริมาณ 280,000 ตัน และเปิดตลาดส่งออกใหม่ที่แอฟริกาใต้ เพื่อดึงอุปทานออกจากตลาด

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอยู่ที่ 330,000 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ 5.5 ล้านไร่ ขณะที่ปี 2568 ยังอยู่ในช่วงของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 โดยจะมีการนำเอาตัวเลขเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดมาใช้กำหนดกรอบวงเงิน ที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือเกษตรกร โดยงบประมาณเบื้องต้นคาดอยู่ที่ 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรจากงบกลาง และคาดนำเสนอคณะรัฐมนตรีครั้งถัดไปวันที่ 4 มีนาคม

นายวิทยากร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมารัฐบาล ไม่เคยสนับสนุนการช่วยเหลือข้าวนาปรังและครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ให้การช่วยเหลือข้าวนาปรัง จึงต้องมีการพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ และการช่วยเหลือก็ไม่เหมือนกับข้าวนาปี ที่มีรูปแบบการดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนมาตรการที่มาจากอนุกรรมการฯด้านการผลิต ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งมาตรการช่วยเหลือการเผาตอซัง มาตรการพื้นที่รับน้ำ นั้น ที่ประชุมเห็นว่ากระทรวงเกษตรมีแผนอื่นๆรองรับไว้แล้ว จึงมองว่าการช่วยเหลือในช่วงนี้ อาจจะไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการนบข.ด้านการตลาด ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมเสนอ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง และได้ 1,000 บาทต่อตัน หากเก็บที่สหกรณ์ โดยสหกรณ์ได้ 500 บาทต่อตัน ต้องเก็บข้าวไว้ 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน 2.ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน และต้องซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200 บาทต่อตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน และ 3.เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการต้องรับซื้อข้าวสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท

พร้อมกันนั้น สมาคมชาวนา ได้ยื่นขอเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการฟางและลดเผาฟาง และจัดระบบน้ำหยดรวม 500 บาทต่อไร่ และจ่ายส่วนต่างราคาประกันกับราคาตลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image