‘บาฟส์ขนส่งทางท่อ’ โครงข่ายพลังงานยั่งยืน หนุนไทยมุ่ง Net Zero Emissions

บาฟส์ขนส่งทางท่อ

“นํ้ามัน” คือ พลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาของประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญของภาคอุตสาหกรรมภาคการขนส่งสินค้า

อดีตการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังที่ต่างๆ จะใช้การขนส่งด้วยรถบรรทุก ผลที่ตามมานอกจากความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางท้องถนนแล้ว ยังมีปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะทางอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ จึงมีการริเริ่มปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ

เป็นที่มาของการคิดคำนวณ “คาร์บอนเครดิต” กุญแจดอกสำคัญที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน สามารถตีมูลค่าและนับเป็นทรัพย์สินขององค์กรได้อีกด้วย

คาร์บอนเครดิต คือ การนำกลไกทางการตลาดมาเป็นแนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรฐานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละองค์กร คำนวณจากการสร้างโครงการหรือดำเนินกิจการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

ADVERTISMENT

หากองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่ามาตรฐาน เครดิตที่เหลือจะนำมาคำนวณราคา และนำไปขายให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ามาตรฐาน ผ่านตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

นับได้ว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นต้นทุนที่ผู้ทำการปล่อยก๊าซ ต้องจ่ายให้กับสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซสู่สิ่งแวดล้อม

โดย บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) ภายใต้การบริหารงานของ ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BPT ระบุ BPT ดำเนินธุรกิจขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมัน ผ่านระบบท่อไปยังภาคเหนือ ณ คลังน้ำมันพิจิตร และคลังน้ำมันนครลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการใน 14 จังหวัด แทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกในแบบเดิม ด้วยเล็งเห็นว่าการขนส่งน้ำมันทางท่อถือเป็นการขนส่งที่ได้รับการยอมรับในสากลว่ามีความปลอดภัยสูงสุด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม

เป็นการปรับเปลี่ยนพลังงานที่ใช้ในการขนส่งจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการปรับเปลี่ยนในกระบวนการนี้ทำให้มี “คาร์บอนเครดิต” เกิดขึ้น

คาร์บอนเครดิตจากโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ (NFPT) ของ BPT รับการตรวจสอบและรับรองโดย VERRA เป็นโครงการภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในด้านการชดเชยคาร์บอนโดยสมัครใจจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีบทบาทสำคัญในการรับรอง สร้างเครดิตและปริมาณซื้อ-ขาย เป็นที่รู้จักและเป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากที่สุดในโลก

อีกทั้งเป็นที่ยอมรับถึงความเข้มงวดของการพิจารณาโครงการที่ขึ้นทะเบียน การตรวจสอบและรับรองโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ Verified Carbon Standard (VCS) โดย VERRA ต้องผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน

เริ่มตั้งแต่ การตรวจสอบความใช้ได้และขึ้นทะเบียน (Validation & Registration) โดยต้องได้รับการรับรองว่าวิธีดำเนินการของโครงการเป็นไปตามมาตรฐานของ VCS ต่อมาคือ การทวนสอบผลลัพธ์ (Verification) ซึ่งกระบวนการนี้ จำเป็นต้องใช้ผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) เพื่อความโปร่งใสของผลการประเมิน

โดย VVB จะเป็นผู้ตรวจและส่งผลการประเมินให้กับ VERRA และในขั้นตอนสุดท้าย การออกคาร์บอนเครดิตและซื้อขาย (Issuance & Trading) จะเกิดขึ้นหลังจากโครงการผ่าน Verification แล้ว และคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับ Verified Carbon Units (VCU) จึงจะสามารถซื้อ-ขาย หรือใช้ชดเชยคาร์บอนได้

BPT ได้ดำเนินการขอรับการตรวจสอบและขอรับรองคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ (NFPT) ในเฟสแรกระยะเวลาตั้งแต่กลางปี 2562 จนถึงปี 2566 จำนวน 44,844 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) คาดว่าจะได้รับ Verified Carbon Units (VCU) ในเดือนมีนาคม 2568

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ระบุเพิ่มเติมว่า คาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองนี้ จะนำมาชดเชยหรือขายผ่านตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ และด้วยความเข้มงวดในหลักเกณฑ์ของ VERRA เป็นเครื่องยืนยันว่าคาร์บอนเครดิตของ BPT มีคุณภาพสูง มีแหล่งที่มาที่พิสูจน์ได้ชัดเจน มีการดำเนินงานที่โปร่งใส และไม่มีการนับเครดิตซ้ำ

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก BPT เดินหน้าโครงการเชื่อมต่อระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 3 (อ่างทอง-สระบุรี) เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านระบบท่อส่งน้ำมันใต้พื้นดินจาก 5 โรงกลั่นน้ำมันภาคตะวันออกสู่ภาคเหนือ เริ่มก่อสร้างต้นปี 2568

ส่งเสริมผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน หันมาใช้บริการการขนส่งน้ำมันทางท่อให้มากขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนภาคเหนือ

นอกจากนี้ BPT ยังพร้อมต่อยอดการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต โดยนำไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาใช้เดินเครื่องสูบถ่ายน้ำมันที่คลังน้ำมันพิจิตรและนครลำปางทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน

โดยให้บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิตพื้นที่ละ 100 kWp มีกำหนดเริ่มใช้งานภายในไตรมาส 4/2568

ด้วยวิสัยทัศน์ “เติมเต็มการส่งต่อพลังงานที่ยั่งยืน” BPT เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายพลังงานของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับโลก

ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือในปี 2562 เป็นต้นมา BPT ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งน้ำมันทางท่อทดแทนการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกไปแล้วกว่า 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและผลักดันแนวคิดการดำเนินธุรกิจให้สมดุลกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนากระบวนการทำงาน

ให้สังคมและประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืน