มนพร นำทีม บวท. บุกญี่ปุ่น ศึกษาแนวทางเพิ่มศักยภาพสนามบิน ชู ภูเก็ต ฮับภูมิภาค

มนพร นำทีม บวท. บุกญี่ปุ่น ศึกษาแนวทางเพิ่มศักยภาพสนามบิน เร่งเครื่อง ชู ภูเก็ต ฮับภูมิภาค

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เร่งขยายความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บวท. จึงศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถ ในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย รองจากสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง มีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

และได้เลือกสนามบินฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่เทียบและแบบอย่างสําหรับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Benchmark เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับสนามบินภูเก็ตและสนามบินหลักของภูมิภาคอื่นในไทย โดยได้เตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเพิ่มเติม บวท. จำเป็นต้องศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคต่อไป

ADVERTISMENT

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บวท. กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มกราคม 2568 (4 เดือน) มีปริมาณเที่ยวบินรวม 165,474 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น มีปริมาณเที่ยวบินรวม 7,588 เที่ยวบิน คิดเป็น 5% ของเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยญี่ปุ่น อยู่อันดับที่ 7 ที่ทำการบินเข้าและออกประเทศไทยสูงสุดในปัจจุบัน ทำการบินเฉลี่ยประมาณวันละ 62 เที่ยวบิน โดยสถิติปริมาณเที่ยวบินระหว่างไทย – ฟุกุโอกะ ทำการบินเฉลี่ยวันละ 6 เที่ยวบิน คิดเป็น 10% ของเที่ยวบินระหว่างประเทศไทย – ญี่ปุ่นทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีหลายสายการบินขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองฟุกุโอกะ ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ทําให้มีความต้องการในการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก

“การศึกษาดูงานสนามบินฟุกุโอกะ ซึ่งมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ บวท.จะนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ทั้งลักษณะการบริหารจัดการห้วงอากาศ การบริหารจัดการลักษณะทางกายภาพของสนามบิน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขรูปแบบ และแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศของสนามบินภูเก็ต และสนามบินภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงการวิเคราะห์หาค่าขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพื่อให้สนามบินภูเก็ต และสนามบินภูมิภาคอื่นในไทย สามารถเพิ่มความสามารถในการรองรับของเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด” นายพิเชฐ กล่าว

ADVERTISMENT

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางครั้งนี้ พบแนวทางการเพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ตจะต้องพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ต้องเลือกใช้ทางวิ่งขึ้น-ลง ที่เหมาะสม และในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ 2.ด้านลักษณะทางกายภาพของสนามบิน ต้องพิจารณาลักษณะทางกายภาพของ Rapid Exit Taxiway (RET) ให้มีระยะทางที่เหมาะสม และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้อากาศยานใช้ระยะเวลาในการครองทางวิ่งน้อยลง สามารถลดระยะห่างของอากาศยานลดลง สามารถรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น และ 3.ด้านกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้ใช้งาน ผู้ให้บริการ และผู้ดำเนินงานสนามบิน การบูรณาการร่วมกับระบบบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ต้องทำให้การบริหารจัดการในภาพรวมของสนามบินเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนในการนําระบบติดตามอากาศยานภาคพื้น Multilateration (MLAT) รวมทั้งระบบ Digital Tower มาใช้ในการจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการจราจรภายในพื้นที่สนามบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ให้ได้ 35 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ภายในปี 2568

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image