ผู้เขียน | ณัฐชนัน ฐิติพันธ์รังสฤต |
---|
เฉลียงไอเดีย : ‘วิทัย รัตนากร’
กางภารกิจ ออมสิน Social Bank
แคมเปญฮิต‘เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม’
ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อใครได้ยินชื่อคงนึกถึงแต่เงินฝาก สลากออมทรัพย์ และกระปุกออมสินของเด็กๆ โดยภาพจำเหล่านี้ยังคงเป็นซิกเนเจอร์มาจนถึงปัจจุบัน
แต่ภายใต้การบริหารของ “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนปัจจุบัน ที่รับตำแหน่งเข้าสู่วาระที่สองแล้ว โดยวาระแรกคือ ปี 2564-2567 ซึ่งได้ปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีอิมแพคมากขึ้น คือการเป็นออมสิน ธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank ซึ่งในตลอด 4 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านราย เป็น 24 ล้านราย
โดย “วิทัย” ให้ข้อมูลว่า ปี 2568 นี้นโยบายธนาคารเพื่อสังคมของออมสินจะยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะว่าการเป็นธนาคารเพื่อสังคมนั้นกลายเป็นตำแหน่งหน้าที่ใหม่ของธนาคารไปแล้ว เพราะฉะนั้นหน้าที่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมคงจะไม่เปลี่ยนและอยู่ไปกับออมสินอีกยาวนาน
ด้านรูปแบบการทำธุรกิจออมสินก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือการนำกำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ไปอุดหนุนภารกิจเชิงสังคม ซึ่งเป็นประชาชนและภาคธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีจำนวนคนมากกว่า คิดเป็นหลายล้านคน
⦁4 ภารกิจ Social Bank
สำหรับเป้าหมายการทำงานของธนาคารออมสินมีทั้งหมด 4 ด้านคือ 1.ดึงคนที่เข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อให้เข้าสู่ระบบสินเชื่อ อันนี้มันก็จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและความเหลื่อมล้ำทางการเงิน โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มคนฐานราก และผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ซึ่งธนาคารจะต้องรับความเสี่ยงสูงขึ้น ดังนั้น หมายถึงจะต้องมีการสำรองที่มากขึ้น และอาจจะมีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็มีการลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งจะช่วยให้คนที่กู้ไม่ได้เข้ามากู้ได้ หรือเคยกู้แล้วผ่อนไม่ไหวก็ผ่อนไหว นั่นก็คือการลดภาระทางการเงินให้กับฐานรากและเอสเอ็มอี ซึ่งใช้เงินประมาณปีละ 4-5 พันล้านบาท
2.แก้หนี้สิน คือแก้ทั้งหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินเอสเอ็มอี ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้เงินประมาณ 7-8 พันล้านบาท ส่วนปี 2568 คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลดลงที่ 6 พันล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว
3.งานด้านการพัฒนาชุมชน สังคม โดยเน้นเรื่องของการออมเงิน ซึ่งออมสินนั้นมีส่วนงานทั้งหมด 18 ภาคทั่วประเทศ ก็จะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการออม ใช้เงินประมาณปีละ 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการเกี่ยวกับเพิ่มดอกเบี้ยเงินออมเพื่อจูงใจประชาชนมากยิ่งขึ้น การทำธนาคารโรงเรียน เป็นต้น
4.การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน GSB boost up 1 แสนล้านบาท ที่คิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเพียง 0.1% และให้นำไป ปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ย 3.5% หรือกรณีน้ำท่วมก็มีมาตรการ
สินเชื่อดอกเบี้ย 0% ซึ่งปีที่แล้วใช้เม็ดเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ส่วนปี 2568 คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 4 พันล้าน เนื่องจากมี มาตรการออกเมื่อกลางปี 2567 และจะมีผลในปีนี้จำนวนมาก
โดยในช่วงที่ผ่านมานั้นยังคงทำผ่านออมสินแค่ทางเดียว แต่ในปีนี้จะเริ่มทำผ่านออมสินและบริษัทลูก ซึ่งธนาคารออมสินได้ตั้งขึ้นมาใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้ลดข้อจำกัดบทบาทของออมสินที่อาจจะทำไม่ได้ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารออมสินที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ บริษัทลูกภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารออมสินมี 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด, บริษัท เงินดีดี จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ซึ่ง 3 บริษัทนี้จะช่วยขยายขอบเขตความช่วยเหลือทางการเงินของออมสิน และล่าสุด บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการทำงานของธนาคารออมสิน โดยเฉพาะในเรื่องไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งพัฒนาบริการของธนาคารโดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง แอพพลิเคชั่น MyMo
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของบริษัทลูกคือการขยายเป้าหมาย และผลการช่วยเหลือเชิงสังคม (Social Impact) ให้ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนหัวและจำนวนเงินมีขนาดใหญ่ขึ้น จากปีที่แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.5 ล้านคน
⦁ที่มาของ‘เป็นลูกค้าเรา-เท่ากับช่วยสังคม’
สำหรับแนวคิดเรื่องของภารกิจเชิงสังคม หรือ Social Bank นั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) คือการนำปัจจัยทางสังคมมาใส่ในเนื้อของธุรกิจ ทำให้กลายเป็นตัวตนขององค์กรให้ทำกำไรได้สูงขึ้น แต่นำกำไรและรายได้ที่ได้มานั้นส่งต่อไปช่วยคนและสังคม ส่วนธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องกำไรสูงสุด อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่มีความแข็งแรง
อย่างไรก็ดี การทำโครงการเกี่ยวกับภารกิจเชิงสังคมนั้นทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ธนาคารออมสินจึงมีการตั้งสำรองที่สูงมากยิ่งขึ้นด้วย ถือว่าเป็นการตั้งสำรองที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของออมสิน จากปี 2563 หรือในช่วงที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการนั้น มีสำรองอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมสำรองส่วนเกิน แต่ก่อนมีเพียง 4 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมี 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การทำโครงการเพื่อสังคมนั้นก็จะสะท้อนออกมาเป็นแคมเปญออมสินล่าสุด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม” ที่จะตอบโจทย์ให้กับลูกค้าของเรา ตัวอย่างเช่น จะฝากเงินที่ไหนก็ดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเลือกฝากกับออมสิน แต่เงินที่นำมาฝาก เราก็จะนำไปช่วยคน เป็นต้น ซึ่งจะตอบโจทย์กับคนที่ให้คุณค่ากับความดี คุณค่าของชีวิต คุณค่าของการทำงาน ทำให้คุณคิดว่าการใช้บริการออมสินเท่ากับการช่วยคน
⦁ผลงานแก้หนี้ 2.32 ล้านคน
สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา ออมสินได้ช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกกลุ่มไม่ให้เสียประวัติ หรือเครดิตทางการเงิน รวมทั้งสิ้น 2.32 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 9.86 แสนล้านบาท
แบ่งเป็น ช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (โควิด-19) หรือลูกหนี้รหัส 21 ด้วยการยกหนี้สินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาทให้ 8.3 แสนล้านราย เงินต้น 5.8 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ารายย่อย 2.6 แสนราย เงินต้น 2.24 แสนล้านบาท และการแก้หนี้บุคลากรทางการศึกษา หรือหนี้ครู 1.9 แสนราย เงินต้น 1.32 แสนล้านบาท
ช่วยลูกหนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยพักหนี้อัตโนมัติ ไม่คิดดอกเบี้ยนาน 6 เดือน 2 แสนราย เงินต้น 8 หมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระหนี้ ด้วยการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.40% ช่วยลูกหนี้ 8.5 แสนราย ลดภาระดอกเบี้ย 1.4 พันล้านบาท และอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด 2.2 แสนราย เงินต้น 1.9 พันล้านบาท
ส่วนการแก้หนี้ในปี 2568 ออมสินก็ได้ขานรับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยกลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี มีประมาณ 1 หมื่นบัญชี และมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมาของรัฐบาล รวมถึงออมสินได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ออกสินเชื่อให้กับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ซึ่งจะปล่อยในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่เป็นลูกค้านอนแบงก์
ผลดำเนินงานของบริษัทลูกอย่างเงินดีดี ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ช่วยกลุ่มคนฐานรากเข้าสู่แหล่งเงินทุนในระบบได้ ด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรมต่ำกว่าตลาด 3-5% ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นั้น ล่าสุดมีการอนุมัติไปแล้ว 9,564 ราย วงเงิน 180 ล้านบาท ส่วนปี 2568 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้ได้ 1 แสนราย
นอกจากนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มด้อยคุณภาพ หรือเรียกว่ากลุ่มที่เป็นหนี้เสีย โดยการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (ARI-AMC) ขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ซึ่งจัดตั้งเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารไปบริหารจัดการต่อ และให้ลูกหนี้ไปปรับโครงสร้างหนี้ได้ด้วย ซึ่งทำให้ได้ปลดออกจากสถานะแบล๊กลิสต์เร็วขึ้น และกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้
สำหรับการโอนหนี้นั้น ออมสินได้ทำการโอนล็อตแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 จำนวน 1.3 แสนบัญชี วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2568 นั้นออมสินมีแผนล็อตใหม่อีก 3.2 แสนบัญชี วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ในแผนระยะถัดไปจะเปิดให้สถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นๆ เข้ามาขายหนี้ให้ ARI-AMR ด้วย
ขณะที่ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ออมสินได้ออกซอฟต์โลน GSB boost up 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2568 นี้ก็จะผลักดันให้สินเชื่อออกครบทั้ง 1 แสนล้านบาท
⦁มุ่งพัฒนาชุมชน-ยกระดับการออม
นอกจากนี้ออมสินยังได้ทำภารกิจในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ไม่ใช่เรื่องสินเชื่อโดยตรง โดย 1.พัฒนาอาชีพ สร้างผู้ประกอบการในชุมชน ซึ่งออมสินได้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิค 54 แห่ง ภายใต้โครงการ “ออมสินอาชีวะ สร้างอาชีพ สู่สังคม” เพื่อฝึกอาชีพช่าง 21 หลักสูตร ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมพัฒนาอีก 202 หลักสูตร และร่วมวิทยาลัยสารพัดช่าง 88 แห่ง ภายใต้โครงการ “ออมสิน สารพัดช่างอาชีพ” ที่จะช่วยฝึกอาชีพ 180 หลักสูตร
2.พัฒนาศักยภาพ สร้างเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ มีโครงการ Smart Start Up Company by GSB Startup ซึ่งจะเป็นการสร้างสตาร์ตอัพตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัย GSB Step&Boost up การอมรมความรู้ธุรกิจ ยกระดับศักยภาพ GSB Franchise Standard การยกระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ และ GSB Step In Innovation Network สร้างนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ
และ 3.พัฒนาชุมชน สร้างความเข้มแข็ง โดยออมสินร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่ง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน ภายใต้ชื่อ “ออมสิน ยุวพัฒน์ รักษ์ถิ่น” การพัฒนาโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวชุมชน ภายใต้โครงการ GSB Happy Homestay และการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ซึ่งปี 2567 ออมสินได้ทำโครงการ “ออมสิน ฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ส่วนปี 2568 จะทำโครงการ ลิบงสุขใจ ที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
ส่วนด้านการส่งเสริมการออมเงิน ซึ่งเป็นอีกบทบาทและภารกิจสำคัญของออมสินนั้น ยังคงเป้าหมายการส่งเสริมการออม สร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เป้าหมายคือการสร้างการออมอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ
โดยแบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน กลุ่มเผื่อเรียกสำหรับเด็กและเยาวชน Kida Now จำนวน 1.11 แสนราย วงเงิน 458 ล้านบาท เงินฝากเผื่อเรียก Protect Life Plus จำนวน 1.71 แสนราย 1,458 ล้านบาท และเงินเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 10 ปี จำนวน 4,651 ราย วงเงิน 3,361 ล้านบาท
2.การให้ความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy โดยผ่านแอพพลิเคชั่น ออมตังค์ หรือ OOmTanG ให้ความรู้ทางการเงิน 72 หลักสูตร เปิดตัวปี 2564 มีผู้ใช้งานสะสม 1.32 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นในปี 2567 ที่ 4.09 แสนราย และแอพพ์ โค้ชออม หรือ Coach Aom เปิดตัวปี 2565 มีผู้ใช้งานสะสม 3.16 หมื่นราย เป็นการเพิ่มขึ้นในปี 2567 ที่ 1.22 หมื่นราย
และ 3.การสร้างวินัยการออมกลุ่มเด็ก ผ่านโครงการธนาคารโรงเรียน 1,321 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง 2.19 ล้านบัญชี เงินฝาก 974 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น บทบาทของออมสินไม่ได้มีเพียงหน้าเดียว และนี่คือแคมเปญ “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”