เผยแพร่ราชกิจจาฯ แล้ว ประกาศนิยาม ‘เอสเอ็มอีสตรี’ ลดเหลื่อมล้ำทางเพศ เพิ่มโอกาสธุรกิจ

สสว. ประกาศนิยาม ‘เอสเอ็มอีสตรี’ ลดเหลื่อมล้ำทางเพศ เพิ่มโอกาสธุรกิจ ประกาศในราชกิจจาแล้ว

น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ขับเคลื่อนและผลักดันการกำหนดนิยามผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสตรี ของประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา ขณะนี้ประสบความสำเร็จโดยราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศฯ เรื่องการกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสตรี ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศเรียบร้อยแล้ว

เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์ขอบข่ายการส่งเสริมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงจัดทำสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME สตรี และช่วยให้หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลเชิงสถิติที่สามารถจัดทำตัวชี้วัดได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก “Sustainable Development Goals : SDGs”

ประเทศไทยมิได้มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินธุรกิจ แต่อาจจะมีประเด็นเล็กน้อย เช่น ความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจ ความไว้วางใจในการจัดลำดับความสำคัญระหว่างงานกับครอบครัว ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการสตรีไทยก็พิสูจน์ความสามารถจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก

ADVERTISMENT

แต่เพื่อให้ตอบรับกับการที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญและรณรงค์เรื่องบทบาทของผู้ประกอบการสตรีมาอย่างต่อเนื่อง สสว. จึงได้เริ่มจัดทำนิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยศึกษาข้อมูลต้นแบบจากนานาประเทศ ประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรระดับนานาชาติ พร้อมทั้งนำเสนอนิยามผู้ประกอบการเอสเอ๋มอีสตรี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร สสว. และคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอี

กระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 142 ตอนพิเศษ 52 ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีต่อไป

ADVERTISMENT

สำหรับนิยามผู้ประกอบการสตรีเอสเอ็มอีประกอบด้วย

1. กิจการเจ้าของคนเดียว หมายถึง กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ หมายถึง กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

3. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ (ข) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่มีอำนาจลงนาม

4. บริษัทจำกัด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ (ข) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และมีผู้หญิงสัญชาติไทยอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

5. วิสาหกิจชุมชน หมายถึง มีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นผู้หญิงสัญชาติไทย และผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นประธานหรือมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจทำการแทน

รูปแบบธุรกิจ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว
ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

3. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
(ก) ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ
(ข) ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
และมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่มีอำนาจลงนาม

4. บริษัทจำกัด
(ก) ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ
(ข) ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
และมีผู้หญิงสัญชาติไทยอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นกรรมการ
ผู้มีอำนาจลงนาม

5. วิสาหกิจชุมชน

สมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นผู้หญิงสัญชาติไทย และผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นประธานหรือมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจทำการแทน

ทั้งนี้ ภายหลังที่นิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว สสว. จะทำการเผยแพร่นิยามดังกล่าวเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรี ให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้จะต่อยอดการดำเนินงาน โดยจะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีของประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อประโยชน์ในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และมาตรการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเสตรีเอสเอ็มอีให้ได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ

รวมถึงเชื่อมโยงกับองค์กรระดับนานาชาติในการนำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME สตรีของประเทศไทย ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image