อนุสรณ์ คาดQ1 ศก.ดีขึ้นหลังผ่อนคลายการเงิน หวั่นมะกันตอบโต้เพิ่มกำแพงภาษีกับไทย ปมส่งกลับอุยกูร์

อนุสรณ์ คาดQ1 ศก.ดีขึ้นหลังผ่อนคลายการเงิน หวั่นมะกันตอบโต้เพิ่มกำแพงภาษีกับไทย ปมส่งกลับอุยกูร์

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การตรวจสอบทองคำสำรอง Fort Knox จำนวน 147.3 ล้านออนซ์ (ประมาณ 5,000 ตัน) อาจเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ระบบการเงินโลกได้ หากไม่มีทองคำอยู่เท่าที่เคยประกาศเอาไว้ ทองคำสำรอง Fort Knox คิดเป็น 50% ของทุนสำรองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ทองคำแท่งที่เก็บไว้ที่ Fort Know หนักแท่งละ 12.4 กิโลกรัม หรือ 27.5 ปอนด์ มูลค่าเมื่อปี ค.ศ.1974 ปีที่มีการตรวจสอบและเปิดเผยจำนวนทองคำที่มีอยู่ใน Fort Knox ขณะนั้นราคาทองคำอยู่ที่ 42.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ล่าสุดราคาทองคำอยู่ที่ 2,867 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทองคำจะมีมูลค่าทั้งหมด 428 แสนล้านดอลลาร์หากมีจำนวนทองคำสำรองตามประกาศประมาณ 5,000 ตัน

หากทองคำมีอยู่ตามที่ประกาศเอาไว้และตามที่สาธารณชนรับทราบ ดอลลาร์สหรัฐจะยังมีสถานะที่แข็งแกร่งและทรงอิทธิพลต่อไปในตลาดการเงินโลก มีการตรวจสอบทองคำสำรองเบื้องต้นบางส่วนในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) โดยรัฐมนตรีคลัง Steve Mnuchin และยืนยันว่ามีทองคำสำรองอยู่ที่นั่น เป็นการทำลายข่าวลือว่า “ทองคำไม่มีอยู่จริง” ตามที่ประกาศเอาไว้ อย่างไรก็ตาม มีผู้นำสหรัฐเพียงคนเดียวประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูลเวลท์ ที่เข้าไปตรวจดูห้องนิรภัยเก็บทองคำสำรอง ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ.1943 นานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว

ชี้หากสหรัฐตรวจสอบทองคำสำรองหากพบมีไม่มากอาจกระทบเชื่อมั่นการเงินโลก

ADVERTISMENT

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การตรวจสอบทองคำสำรองที่ Fort Knox อย่างสมบูรณ์ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี หากรัฐบาลทรัมป์ต้องการดำเนินการเช่นนั้น โอกาสที่สาธารณชนจะรับรู้ว่าทองคำสำรองหายไปหรือมีอยู่จริงตามจำนวนที่ประกาศเอาไว้นั้นอาจไม่เกิดขึ้น สาธารณชนจะถูกทำให้รับรู้และเชื่อมั่นว่า ทองคำสำรองมีอยู่ตามที่ประกาศและสาธารณชนรับรู้นั้นมีอยู่อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกัน โอกาสที่ทองคำสำรองหายนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากๆ ส่วนทองคำสำรองอาจไม่มีอยู่มากเท่าประกาศไว้มีความเป็นไปได้ ความเชื่อมั่นต่อการมีอยู่ของทองคำสำรองของสหรัฐอเมริกามีผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินโลกที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก ฉะนั้น ทองคำจะมีอยู่จริงตามประกาศเอาไว้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับสาธารณชนเชื่อมั่นว่า ทองคำสำรองมีอยู่อย่างครบถ้วน

หากการตรวจสอบมีความโปร่งใสและทำอย่างจริงจังและพบว่า ทองคำสำรองไม่มีอยู่ตามจำนวนที่ประกาศเอาไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระบบการเงินโลกปัจจุบัน ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอีก และมีโอกาสแตะ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทองคำในประเทศจะแตะ 50,000 บาทต่อบาททองคำได้เร็วขึ้น ดอลลาร์อาจดิ่งลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้น สร้างความปั่นป่วนผันผวนต่อตลาดการเงินโลก ทางการสหรัฐก็จะรีบหามาตรการหยุดยั้งการอ่อนค่าและผันผวนของดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนปริวรรตทองคำ Bretton Wood ระบบการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary System) ของโลกนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่และนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินระหว่างประเทศเดิมและเกิด

ADVERTISMENT

คาดไม่เกิน10ปีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินโลก

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศใหม่เกิดขึ้นทดแทน 3 ครั้งในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา คือ ปี ค.ศ.1914, ค.ศ.1939 และ ค.ศ.1971 และคาดการณ์ได้ว่า ภายในไม่เกิน 10 ปีนี้คงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง และระบบการเงินดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซีอาจมีบทบาทเพิ่มขึ้น

ระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลังการล่มสลายของระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำมามากกว่า 54 ปี (นับแต่ปี ค.ศ.1971) ระดับการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับอัตราการออมที่ลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบทุนนิยมโลกที่อยู่บนฐานของเงินที่ไม่มั่นคง (เงินดอลลาร์มีความผันผวนสูง) มีความเปราะบางอย่างยิ่ง

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลทรัมป์ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณของสหรัฐอเมริกา ปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลและหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาได้สะสมเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของค่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาทะลุเพดานหนี้ 32 ล้านล้านดอลลาร์มาหลายปีต่อเนื่อง ขบวนการออกจากดอลลาร์ การลดการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองหันไปถือทองคำมากขึ้น (De-Dollarization) เกิดมากขึ้นตามลำดับหากสหรัฐอเมริกายังแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าไม่ได้

ชี้หนี้สาธารณะสหรัฐพุ่งกว่า 123% ของจีดีพีเสี่ยงต่อสเถียรภาพดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบการเงินระหว่างประเทศในฐานะเงินสกุลหลักจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากการที่ไม่มีเงินสกุลอื่นหรือเงินในรูปแบบอื่นๆ มาทดแทนได้ในเวลาอันสั้น แต่ปัญหาภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ล่าสุด (ตัวเลข ณ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568) หนี้สาธารณะทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 36.22 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 123% ของจีดีพี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความมีเสถียรภาพมั่นคงของดอลลาร์ การที่หนี้สาธารณะทะลุเพดานก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการปิดหน่วยงานรัฐเป็นระยะๆ รัฐบาลขาดสภาพคล่อง หากไม่ขยายเพดานหนี้ชั่วคราว ขณะเดียวกันการขยายเพดานไปเรื่อยๆ ทุกปีเมื่อมีการจัดทำงบประมาณก็ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้สาธารณะ

รัฐบาลทรัมป์ได้ปิดหน่วยงานของรัฐหลายแห่งและตัดงบช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นลดขนาดของหน่วยงานภาครัฐ นับเป็นการเริ่มต้นของแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในเชิงโครงสร้าง การปรับเพิ่มภาษีศุลกากรเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งในแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและขาดดุลการค้าจำนวนมากของสหรัฐอเมริกา

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศได้เพิ่มสัดส่วนของ “ทองคำ“ มากขึ้นเรื่อยๆ ทองคำเป็นสิ่งที่หนุนหลังค่าเงินที่มีความมั่นคงมากกว่า เงินเฟียต (Fiat Money) ที่ออกโดยธนาคารกลางสหรัฐ (ดอลลาร์สหรัฐ) ธนาคารกลางยุโรป (เงินยูโร) ธนาคารกลางจีน (เงินหยวน) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (เงินเยน) การเก็บสะสมทองคำเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจต่อเงินดอลลาร์และสกุลเงินท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย เวลาเรานึกถึงเงินที่มั่นคง เรามักจะนึกถึงทองคำเสมอ มนุษย์พยายามสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษ อุปทานของทองคำที่ถูกขุดขึ้นมาใหม่มีปริมาณน้อยกว่าอุปทานที่มีอยู่เดิมจึงทำให้มูลค่าทองคำไม่ผันผวน มีความมั่นคง และสามารถเก็บรักษามูลค่าดีมาก การสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษจึงยังไม่สำเร็จ มีแนวโน้มที่ “Silver” อาจกลับมาบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินโลกได้เคียงคู่ “ทองคำ”

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า ระบบการเงินโลกที่เราใช้อยู่เวลานี้ยังคงมีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance – CeFi) ขณะที่ได้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Finance – DeFi) ขยายตัวและมีต้นทุนทางการเงินต่ำลงมาก แนวโน้มดังกล่าวทำให้ เงินเฟียต (Fiat Money) ไม่ว่าสกุลไหนย่อมมีบทบาทลดลงในระบบการเงิน โดยสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่มากขึ้นตามลำดับ คือ เงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ หากเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำหน้าที่พื้นฐานของเงินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยในการวัดมูลค่า (Unit of Account) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) หรือหน่วยในเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง

จีนเจ้าหนี้รายใหญ่มะกัน หากขายสินทรัพย์ดอลลาร์กระทบมะกันแน่

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ธนาคารกลางจีนถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมูลค่าสูงกว่า 850,000 ดอลลาร์สหรัฐ จีนจึงเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หากจีนขายสินทรัพย์ดอลลาร์ออกมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศย่อมเกิดแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์และฐานะทางการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกา และ จีนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งที่เราคาดการณ์ได้ก็คือ จีนน่าจะค่อยๆ ทยอยลดการถือครองดอลลาร์ จะไม่ขายออกมาจำนวนมากๆ ครั้งเดียว เพิ่มการถือทองคำพร้อมเพิ่มบทบาทเงินหยวนในฐานะเงินสกุลหลักของโลกซึ่งจีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากกว่านี้ เพื่อให้ธุรกรรมซื้อขายเงินหยวนมีความคล่องตัว รวมทั้งบทบาทเพิ่มขึ้นของเงินสกุลดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซีและบิตคอยน์ ระบบการเงินทางเลือกใหม่แบบไร้ศูนย์กลางจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระบบการเงินระหว่างประเทศ

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะไม่ขยายวงไปจนถึงจุดที่สร้างความเสียหายต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกโดยรวมอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ผลิตจะเผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผู้บริโภคจะเจอกับเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของสองประเทศพึ่งพาซึ่งกันและกันมาก หลายประเทศจะใช้มาตรการส่งออกแบบทุ่มตลาดมากขึ้น อาจเห็นมีการปิดโรงงานและการเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทย มาตรการหรือนโยบายชะลอและระงับการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอุปสงค์รวมในตลาดโลก

คาดส่งออกไทยไตรมาสแรกอาจขยายตัวได้ 5-10%

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่าว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนคลายทางการเงิน ส่งออกและใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัว และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อัตราการขยายตัวของจีดีพีของไทยไตรมาสแรกอาจโตแตะ 4% ได้ คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวการส่งออกจะเร่งตัวก่อนสินค้าไทยเผชิญกำแพงภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา โดยมองว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไตรมาสแรกอาจขยายตัวได้ 5-10% โดยในเดือนมกราคมอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 13.6%

อย่างไรก็ตาม การทรุดตัวของตลาดหุ้นไทยยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะไม่ดีจากสงครามการค้า และมีความเป็นได้สูงขึ้นที่ไทยจะเผชิญการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อัตราภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐกับคู่ค้า (ไทย) อยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน อัตราภาษีตอบโต้จะเก็บจากส่วนต่างอัตราภาษี MFN ระหว่างสหรัฐกับคู่ค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

หวั่นสหรัฐอาจใช้ปมส่งกลับอุยกูร์กีดกันการค้าไทย

นอกจากนี้ การส่งกลับ ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อาจเป็นข้ออ้างเพื่อใช้กีดกันการค้าต่อสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ประเทศไทยนั้นน่าจะตกเป็นเป้าหมายสำคัญของเก็บภาษีตอบโต้เพราะเข้าเงื่อนไขหลายข้อ ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐจำนวนมาก มีการเก็บสินค้านำเข้าหลายรายการสูงกว่าสหรัฐเก็บจากไทย มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐต่อสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2% แต่มีสินค้านำเข้าประมาณ 50% ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเริ่มทำการสอบสวนพิจารณาการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐของประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยกำหนดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 เม.ย. ก่อนนำเสนอประธานาธิบดีสหรัฐตัดสินใจต่อไปเป็นลักษณะ Country-Level Reciprocity

นอกจากนี้ยังมีแผนเก็บภาษีแบบทั่วกระดานแบบ Across-the-Board แต่การจัดทำกฎหมาย Reciprocal Trade Act แบบนี้ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาซึ่งอาจใช้เวลา หากการขึ้นภาษีนำเข้าก่อนหน้านี้ของรัฐบาลทรัมป์ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 3% และระดับราคาค้าส่ง (Wholesale Price) เพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.5% น่าจะมีเสียงคัดค้านจากสมาชิกรัฐสภา ฉะนั้นการขึ้นภาษีตอบโต้แบบ Across-the-Board อาจไม่เกิดขึ้นโดยง่ายนัก และคงใช้เวลาในการดำเนินการ ผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยจึงจำกัดอยู่ในสินค้าบางรายการเท่านั้น และอาจโดนขึ้นภาษีเฉลี่ย 4-6%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image