สรท. จี้รัฐ เร่งยุทธศาสตร์-ดึงเอกชนร่วมทีมเจรจาต่อรอง ทรัมป์ หวั่นล่าช้าส่งออกสหรัฐฯดิ่ง ควบเร่งแก้ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงการเตรียมการของรัฐบาลไทย เพื่อรับมือกับนโยบายทรัมป์ 2.0 ว่า ขณะนี้ ยังไม่เห็นความคืบหน้าของการเตรียมรับมือกับนโยบายทรัมป์ 2.0 หรือมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯอาจนำมาใช้ เพื่อหวังลดการขาดดุลการค้ากับไทย ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่มียุทธศาตร์ในการเจรจาต่อรอง หรือ กำหนดออกมาเป็น Single Trade Policy อาจไม่ทันกับการรับมือ และอาจทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯได้รับผลกระทบแน่นอน
นอกจากนี้ องค์การภาคเอกชนต่างๆ รวมถึง สรท.ต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมการรับมือ เพราะภาคเอกชนเป็นผู้ส่งออก ผู้ทำการค้ากับสหรัฐฯตัวจริง มีข้อมูล รายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาต่อรองได้อย่างชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้ ภาคเอกชนเรียกร้องมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้รับติดต่อจากรัฐบาลให้เข้าร่วมด้วยเลย
“การเตรียมรับมือของภาครัฐล่าช้าเกินไป ผ่านมาหลายเดือน ยังไม่มียุทธศาสตร์การเจรจาต่อรองที่ชัดเจน ทำให้เกรงว่า การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯอาจได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าส่งออกอาจหายไป หรือลดลง จากปีก่อน ที่มีมูลค่าเกือบ 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนประมาณ 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งน่าจะเห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี2568 นี้ ” นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการเจรจาต่อรอง ที่มีข่าวออกมาว่า ไทยอาจเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯในรายการที่นำเข้าอยู่แล้ว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงน้ำมันดิบด้วยนั้น ต้องการให้รัฐบาลชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร ที่อาจก่อปัญหาให้กับภาคเกษตรในระยะยาว กับการลดมูลค่าการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ไทยได้ดุลมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และล่าสุดปี 2567 ไทยได้ดุลเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มูลค่ากว่า 35,000 ล้านเหรียญฯ หรือกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพราะต้องเพิ่มมูลค่าการนำเข้าเท่าไร จึงจะถึงจุดที่สามารถลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯได้
นายชัยชาญ กล่าวว่า นอกจากเรื่องแก้ปัญหาได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯแล้ว ไทยยังต้องแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนด้วย ที่ล่าสุดปี 2567 ไทยขาดดุลมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยต้องเร่งแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ไทยจำนวนมาก และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากสหรัฐฯใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าจีน ที่ส่งผลให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายชัยชาญ กล่าวว่า การป้องกันสินค้านำเข้าจากจีน รัฐบาลต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อปกป้องผู้ผลิตไทย และผู้บริโภคไทย โดยเฉพาะการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) หรือการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยเฉพาะในสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ต่างๆ ที่ปัจจุบันทะลักเข้าไทยจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย รวมถึงผู้บริโภค ที่ใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐานด้วย
“หลายเรื่องที่ภาคเอกชนยำ้มาตลอด หากยังไม่เตรียมทิศทางให้รับรู้กันโดยทั่ว เพื่อให้เอกชนได้รับมือ หรือ มีส่วนร่วมแก้ปัญหา ด้วยเป็นผู้ส่งออก จะรู้ว่าปัญหาอย่างไร ปัญหาระดับประเทศ ต้องดึงทุกฝ่ายร่วมกัน ครึ่งหลังปีนี้ หากไม่ชัดเจนว่าจะรับมือเทรดวอร์ มาเป็นเทรดดิว ที่สหรัฐเน้นเจรจาเป็นคู่ประเทศ หรือกลุ่มประเทศ มากกว่า เราจะเสียหายมาก และแก้ไขยากขึ้น” นายชัยชาญ กล่าว