พีรพันธ์ เดินหน้า Thai Rice GCF เตรียมพร้อมชาวนาปลูกข้าวทันต่อภูมิอากาศ
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ: Thai Rice GCF โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย 253,400 คน ใน 21 จังหวัดของไทย ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน ที่เริ่มจากระดับเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว และเข้าร่วมโครงการ ใช้เทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ 2.6 ล้านตัน ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของการดำเนินโครงการ (มกราคม 2567 – ธันวาคม 2571) ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบหลักสูตรการถ่ายทอดความรู้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่งเสริมศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมพัฒนาแนวทางถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยใช้แนวคิดการส่งเสริมการเกษตรผสมผสานกับแนวคิดการดำเนินการธุรกิจและการตลาด โดยร่างหลักสูตรการอบรมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า องค์ความรู้ซึ่งจะถ่ายทอดให้เกษตรกรสามารถใช้วิธีการปลูกข้าวที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 10 วิธี ได้แก่ 1. การใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศสำหรับวางแผนการเพาะปลูก เพื่อช่วยคาดการณ์และวางแผนการปลูก ลดความเสี่ยงเกิดความเสียหาย ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตข้าวได้ตามมาตรฐาน 2. จัดการน้ำระดับแปลงนา ทำระบบการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเขตชลประทาน ควรทำระบบน้ำ เข้า-ออก คนละทาง ป้องกันวิกฤติน้ำเค็มรุก และเขตนาน้ำฝน ควรทำบ่อสำรองน้ำไว้ใช้ในสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง 3. ใช้พันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกและปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีความทนต่อโรค แมลง และสภาพอากาศในบางฤดู ให้ผลผลิตสูง และตลาดต้องการ 4. การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ทำให้พื้นที่แปลงนาที่มีความสูง-ต่ำ ราบเรียบเสมอกัน 5. การหว่านหรือหยอดข้าวแห้ง ซึ่งใช้เมล็ดโดยตรงหว่านเพื่อรอฝน ทำให้ประหยัดแรงงาน ลดต้นทุน และระยะเวลาปลูก
นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า รวมถึง 6. จัดการศัตรูข้าวแบบผสมผสาน นำเอาวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลากหลายวิธีมาปรับใช้เพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศ ทำให้สามารถลดการใช้ปริมาณสารเคมี 7. ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานต่อแพร่การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 8. ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น พอดีกับความต้องการของพืช โดยประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนการปลูกทำให้ลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ และลดต้นทุนการผลิต 9. จัดการฟางและตอซัง โดยแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ อาทิ ไถกลบ เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และอัดก้อน เพื่อเป็นอาหารสัตว์ 10. ปลูกพืชหมุนเวียนยั่งยืน หรือ การปลูกพืชหลังนา พื่อให้เหมาะสมกับสภาพดินและปริมาณน้ำ ก็จะก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง และยังเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมด้วย