คมนาคม เคาะ 5 มาตรการ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง

คมนาคม เคาะ 5 มาตรการ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง

ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ภายหลัง เป็นประธานการประชุมเร่งรัดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง กรณีรถโดยสารไม่ประจำทางประสบอุบัติเหตุบน ทล.304 ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมทางหลวง และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากกรณีรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0040 บึงกาฬ บรรทุกเจ้าหน้าที่คณะดูงานเทศบาลพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 49 ราย (รวมคนขับรถ) ประสบอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทางบน ทล.304 บริเวณตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี  เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 18 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รายงานว่าจากการตรวจสอบพบสาเหตุหลักเกิดจากพนักงานขับรถใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับเส้นทางลงเขาที่เป็นทางโค้งต่อเนื่อง ส่งผลให้รถเสียหลักเฉี่ยวชนกับแผงกั้นแบ่งช่องทางจราจรด้านซ้าย (แบริเออร์) และพลิกตะแคง โดยไม่พบร่องรอยการเบรก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมและกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน โดยที่ประชุมได้วางแนวทางและวางกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้

 

ADVERTISMENT
  1. มิติด้านยานพาหนะ กำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) รถโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทาง ที่วิ่งในเส้นทางที่มีความเสี่ยงและมีข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งศึกษายกระดับจีพีเอส (GPS) ใช้งานในเชิงป้องกันสื่อสาร 2 ทาง โดยสามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในจุดที่มีความเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุ การจัดทำสมุดวัดความปลอดภัย หรือ Safety Ratings รถโดยสารสาธารณะ และการเร่งรัดแผน/มาตรการด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัยทุกมิติ
  2. มิติด้านผู้ขับขี่ เพิ่มความเข้มข้นหลักสูตรสำหรับผู้ขับรถบริเวณที่มีทางลาดชัน เช่น การใช้เกียร์ การตรวจสอบมาตรวัดแรงดันลม และ การเข้มงวดการเตรียมความพร้อมคนขับ เป็นต้น
  3. มิติด้านถนนและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตั้งป้ายเตือนจุดเสี่ยง (Black Spot) ป้ายแนะนำการขับรถลงเขาให้ใช้เกียร์ 2 เท่านั้น ป้ายเตือนรถโดยสารให้เข้าจุดลงเวลารถโดยสาร และป้ายเตือนล่วงหน้าก่อนถึงช่องหยุดรถฉุกเฉิน นอกจากนี้ ให้ซ่อมแซมแบริเออร์ และเสาไฟส่องสว่างที่ชำรุดให้สามารถใช้งานได้
  4. มิติด้านการบังคับใช้กฎหมาย ย้ายจุด Check Point รถโดยสารสาธารณะบน ทล.304 ไปอยู่ อีกฝั่ง เนื่องจากปัจจุบันจุดดังกล่าวเส้นทางขาขึ้น – ขาล่องอยู่ฝั่งเดียวกัน
  5. มิติด้านการประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งเข้าจุดพักรถโดยสารตามข้อบังคับพนักงานจราจรจังหวัดปราจีนบุรี

 

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้นำเคสอุบัติเหตุดังกล่าวมาเป็นกรณีนำร่องในการแก้ไขปัญหาสำหรับการกำหนดโซนนิ่งโดยออกเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานเพื่อบังคับใช้กับรถโดยสาร ไม่ประจำทางก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ รวมถึงการออกประกาศปรับปรุงระเบียบมาตรฐานรถโดยสาร ไม่ประจำทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกับรถโดยสารประจำทาง เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ให้กรมทางหลวงร่วมกับ ขบ. สำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างจุดพักรถเพิ่มเติม โดยจัดทำเป็นแผนดำเนินงาน (Timeline) เสนอมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมต่อไป โดยตนกำชับให้ทำการศึกษาจุดเสี่ยงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณาจุดเสี่ยง อาทิ พื้นที่มีความลาดชันเกิน 6% เป็นต้น

“ขอเน้นย้ำให้ ขบ. ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยบูรณาการ่วมกับกรมทางหลวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำแผนดำเนินงานและเร่งออกประกาศบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ซ้ำอีก เพื่อยกระดับความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทางอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image