ส่งออกไทย ยกทรัมป์ 2.0 ระเบิดเวลาลูกใหญ่ รอวันปะทุ แม้ตัวเลข ม.ค. โต 13.6% แต่เป็นภาพลวงตา
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาคการส่งออกไทย คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2568 เติบโตที่ 1-3% โดยมองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศอื่นๆ อาทิ จีน เม็กซิโก แคนาดา เริ่มต้นบทใหม่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 นั้น ไทยไม่สามารถประมาทได้ เนื่องจากถือเป็นระเบิดเวลาของผู้ส่งออกไทย ผลกระทบทางตรงอาจน้อยแต่ผลกระทบทางอ้อมมหาศาล เพราะประเทศไทยส่งออกเกินดุลการค้าสหรัฐที่อันดับ 11 เป็นมูลค่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 22% แม้พื้นฐานของเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากขนาดนั้น ทำให้ปริมาณการส่งออกทั่วโลกลดลงในไตรมาส 2/2568 จะเริ่มมีผลกระทบกับการส่งออกไทยแล้ว สงครามการค้าทรัมป์ 2.0 จึงเป็นเหมือนไฟที่กำลังไหม้อยู่นอกบ้าน แล้วรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่ลามมาถึงไทย ยอดส่งออกที่เติบโตเป็นเพียงภาพลวงตาจากความไม่แน่นอนหลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับคืนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
“ประเทศไทยเกินดุลกับสหรัฐค่อนข้างมาก ทำให้ผลกระทบจากเรื่องกำแพงภาษีเป็นสิ่งที่ไทยคงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ได้จำกัดเพียงประเทศอื่น ทั้งแคนาดา เม็กซิโก หรือจีนเท่านั้น เนื่องจากมีผลกระทบต่อสินค้าบางชนิด อาทิ เหล็ก ที่ไทยส่งออกเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาหามาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าว สวนทางกับจีนที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
คำถามคือ เราตั้งมาตรการป้องกันไว้แล้วหรือยัง เพราะเราขาดดุลการค้าจากการนำเข้ามาทั้งที่บางรายการสินค้า อาทิ วัตถุดิบใช้ในการก่อสร้าง ทำไมไม่เจรจาผลิตและใช้ในประเทศให้มากขึ้น แม้ตัวเลขส่งออกโตแต่ไม่ดีใจ และผู้ประกอบการก็ไม่ดีใจเช่นกัน เพราะพื้นฐานโครงสร้างยังไม่ปลอดภัย” นายชัยชาญกล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 25,277 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 862,367 ล้านบาท ขยายตัว 11.8% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมกราคมขยายตัว 11.4% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,157.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.9% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,112 ล้านบาท ขยายตัว 6.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม 2568 ขาดดุลเท่ากับ 1,880.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 75,746 ล้านบาท
นายชัยชาญกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนที่สำคัญ ได้แก่
1.การส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (เอฟดีไอ) เพิ่มขึ้น ดุลการค้าเพิ่ม แต่สัดส่วนการใช้โลโคล คอนเทนต์น้อย มีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐใช้มาตรการทางภาษีกดดันจากการส่งออกกลุ่มสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจนเกินดุลการค้ามากขึ้น
2.สินค้าจีนทะลัก จากสงครามการค้า กระทบกับเอสเอ็มอีไทย ที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว จึงน่าเป็นห่วงมากขึ้น
3.แหล่งเงินทุนเข้าถึงยาก ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องและไม่สามารถยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันกับเศรษฐกิจโลกใหม่ได้ แม้มีการลดดอกเบี้ยลง ทำให้เติบโตช้า
4.การผลิตสินค้าล้าสมัย รับจ้างผลิตเป็นหลัก ขาดเอกลักษณ์ของตนเอง
5.แรงงานของไทยขาดการปรับตัว และฝีมือในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมน้อย จึงเสียโอกาส
6.ขาดนโยบายในทิศทางเดียวกันที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน
นายชัยชาญกล่าวว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1.ผู้ส่งออกไทยที่ทำการค้ากับสหรัฐ ควรมีแผนรองรับความเสี่ยง อาทิ มองหาตลาดอื่นทดแทนเพื่อกระจายสินค้า หรือหารือผู้นำเข้า ทูตพาณิชย์ อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเตรียมการรับมือร่วมกัน และ 2.เร่งใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่และใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีอยู่ให้เต็มที่ อาทิ กรอบอาร์เซ็ป รวมถึงเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย และอียู หรือไทย และอาเซียน รวมถึงแคนาดา ให้บรรลุผลโดยเร็ว