อสังหาฯ จี้งัดกฎหมาย สกัดเช่าคอนโดรายวัน หวั่นกระทบตลาด LPP ให้เงินนำจับผู้แจ้งเบาะแส
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) ธุรกิจบริหารอาคารชุดในเครือบมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาการเช่ารายวันในโครงการลุมพินี สวีท เพชรบุรี-มักกะสัน บริษัทพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ทั้งตรวจสอบเอกสารการให้เช่า พบเป็นการปล่อยเช่ารายเดือนไม่ใช่รายวัน ขณะที่การออกมาตรการหรือข้อบังคับต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนิติบุคคล อีกทั้งโครงการนี้มีต่างชาติเป็นเจ้าของร่วมด้วย โดยซื้อในสัดส่วน 43%หรือประมาณ 300 ยูนิต จึงทำงานค่อนข้างลำบากเราทำเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าของร่วม ผู้พักอาศัย ฝ่ายจัดการ นิติบุคคล รวมถึงส่วนราชการที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เช่น กฎหมายควบคุมการจองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือมีศูนย์รวมในการรับเรื่องและปัญหาขณะนี้ถือว่าใหญ่และเป็นระดับชาติ เพราะเกี่ยวโยงไปถึงภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
นายสุรวุฒิกล่าวว่า สำหรับมาตรการที่บริษัทดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ระดับ 13 มาตรการ ระดับที่ 1 กรณีปกติ สื่อสารการปล่อยเช่ารายวันผิดกฎหมายและข้อบังคับอาคารชุด ผ่านช่องทางการสื่อสารโครงการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตรวจสอบสัญญาการเช่าของห้องชุดต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน เอกสารตม.30 หนังสือเดินทาง ,ระดับที่ 2 กรณีเฝ้าระวังและพบความสุ่มเสี่ยง ตรวจสอบและรายงานหน่วยงานรัฐเพื่อเข้าป้องปราม หากพบความสุ่มเสี่ยง รวบรวมข้อมูล และแจ้งลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี เสนอแนวทางการคัดกรอง ป้องกัน ให้คณะกรรมการนิติ ติดตั้งระบบสแกนหน้า และระดับที่ 3 กรณีมีแนวโน้มเกิดผลกระทบในการอยู่อาศัย ให้เพิ่มบทปรับเจ้าของห้องที่ทำผิดในการปล่อยเช่ารายวัน ให้รางวัลนำจับผู้ที่แจ้งเบาะแส 5,000-20,000 บาท เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ รปภ. ตรวจเข้มและสังเกตการณ์ การเข้า-ออกของชาวต่างชาติและแจ้งดำเนินคดี
น.ส.สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทบริหารคอนโดฯอยู่ 250 โครงการและมีกว่า 10 โครงการที่มีการปล่อยเช่ารายวัน อยู่ทำเลยอดฮิตของต่างชาติ เช่น พระราม9 รามอินทรา เป็นต้น ซึ่งมาตรการที่ต้องทำแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บริษัทร่วมกับนิติโครงการ 2.ต้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ขึ้นอยู่กับนิติของแต่ละโครงการจะมีการบริหารจัดการอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะในกฎหมายอาคารชุดไม่ได้ให้อำนาจนิติบุคคล ในการที่จะสามารถจัดการขั้นเด็ดขาด เช่น ตัดน้ำ ตัดไฟ เป็นต้น
“ต้องแก้ไขกฎหมายอาคารชุดให้นิติมีอำนาจดำเนินการเรื่องนี้ได้ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้นในระยะยาว”นายประเสริฐกล่าว
นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่อาจได้ผลจริงๆ ควรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ในทำเลหรือโครงการที่มีเรื่องร้องเรียนหรือที่มีปัญหาทำนองนี้ แล้วยึดอุปกรณ์ที่เก็บกุญแจหรือจับกุมคนที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มนี้ไปสอบสวนเพื่อขยายผล ขณะที่กลุ่มของผู้ประกอบการ ควรจะออกมาแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย เพราะต้นตอปัญหาอาจเริ่มมาจากการขายคอนโดให้กับกลุ่มนักลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการที่อาจจะไม่ได้มีการให้รายละเอียดการหารายได้จากการลงทุนก็เป็นไปได้
“หวังว่าทั้งตำรวจ นิติบุคคล ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการจะมีการดำเนินการเรื่องนี้แบบเข้มข้น และเห็นผลชัดเจน เพราะถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดแน่นอน เนื่องจากคนอาจจะกลัวปัญหานี้ และห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นลดลง และถ้าผู้ประกอบการรายใดแสดงออกในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่เข้าตาผู้บริโภคก็อาจจะมีผลต่อภาพลักษณ์บริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อโครงการของคนไทยในระยะยาว”นายสุรเชษฐกล่าว