คมนาคม ยันมี.ค.ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างสนามบินตรังรายใหม่ หลังเจ้าเก่าทิ้งงาน เผยยกเลิกประมูลอี-บิดดิ้ง ใช้วิธีคัดเลือกเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ได้ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำงบงวดงานสุดท้าย 34 ล้าน บวกริบหลักประกันสัญญา 50 ล้าน เพียงพอ ยืนยันพ.ค.นี้ใช้อาคารได้บางส่วนและต.ค.เสร็จทั้งอาคาร
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ท่าอากาศยานตรัง ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ท่าอากาศยานตรัง โดยมีนายดนัย เรื่องสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ต้อนรับ ก่อนเข้าประชุมเป็นการภายในนานกว่าหนึ่งชั่วโมงเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารภายในท่าอากาศยานตรัง จากนั้นได้เดินทางตรวจเยี่ยมอาคารท่าอากาศยานนานาชาติตรังหลังใหม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ในขณะนี้ภายในตัวอาคารยังเหลือร่องรอยของอาคารที่ชำรุด จากการที่มีผู้บุกรุกเข้าไปลักลอบขโมยทรัพย์สิน รวมถึงมีต้นไม้ที่ยืนต้นเฉาตาย
จากนั้น ดร.มนพรให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรังว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานตรัง มีขีดความสามารถ โดยอาคารที่พักผู้โดยสารภายในประเทศ มีอัตรารองรับผู้โดยสาร 600 คน/ชั่วโมง ทั้งขาเข้าและขาออก รวม 1,700,000 คน/ปี ลานจอดรถยนต์กลางแจ้ง รองรับรถยนต์ได้ 210 คัน
ปัจจุบันท่าอากาศยานมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสาร ดังนั้น กรมท่าอากาศยานจึงมีแผนพัฒนาท่าอากาศยาน ในการดำเนิน โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก ผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง งบประมาณ 1,064,430,600 บาท โดยมี บริษัทพอร์ท แอน มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง หากโครงการแล้วเสร็จ จะมีขีดความสามารถที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี โดยอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชั่วโมง ทั้งขาเข้าและขาออก รวม 3,400,000 คน/ปี ลานจอดรถยนต์กลางแจ้ง สามารถรองรับรถยนต์ได้ 1,370 คัน มีสะพานเทียบเครื่องบิน จำนวน 2 ชุด ลิฟต์โดยสาร จำนวน 11 ชุด และบันไดเลื่อน จำนวน 6 ชุด สามารถรองรับทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินต่างประเทศ
ซึ่งโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่มีผลการดำเนินการ 98.34 % (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 67) ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนด เนื่องจากประสบปัญหาผู้รับเหมาไม่เข้ามาทำงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้การเปิดให้บริการมีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด กรมท่าอากาศยาน ได้บอกเลิกสัญญาจ้างบริษัท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 และได้ดำเนินการประเมินค่าเสียหาย และค่างานคงเหลือโดยคณะกรรมการได้สำรวจตรวจสอบค่าเสียหายจากค่าก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ค่าเสียหายของงานจ้างที่แล้วเสร็จ
เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้รับจ้างทิ้งงาน คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 34 ล้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบก่อนจ้างรายใหม่ โดยโครงการมีงบประมาณคงเหลือ 34.302 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการจัดจ้างรายใหม่ โดยเพื่อเร่งรัดแล้วเสร็จโดยเร็วจะจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกเพื่อเร่ง กระบวนการจัดหา และทำให้ได้ผู้รับจ้างเชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ ดำเนินการแจ้งธนาคารผู้ออกค้ำประกันเพื่อริบหลักประกันสัญญา เป็นจำนวน 53,500,000 บาท และดำเนินการแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน
กรมท่าอากาศยาน จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความล่าช้าของการเปิดให้บริการอาคารที่พัก ผู้โดยสารหลังใหม่ และเร่งจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ โดยวิธีการคัดเลือกในเดือนมีนาคม 2568 เพื่อให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้ตามแผน ซึ่งคาดว่าจะย้ายมาเปิดใช้อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รวมถึงในส่วนของการให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2568 และจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งส่วนให้บริการในประเทศและระหว่างประเทศ ประมาณเดือนตุลาคม 2568
สำหรับการเวนคืนที่ดิน 547 ไร่ 1 งาน 87.3 ตารางวา เพื่อขยายความยาวทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง จากเดิมความยาว ทางวิ่ง 2,300 เมตร เป็น 2,990 เมตร งบประมาณ 868,861,600 บาท ซึ่งปัจจุบันได้จ่ายเงินทดแทนและจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว 5 ครั้ง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 867,242,602.77 บาท รวมทั้งการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกระบวนการขายทรัพย์ในการเวนคืน โดยได้เจรจาและตกลงซื้อขายแล้วจำนวน 161 ราย 149 แปลง พื้นที่ 280 ไร่ 2 งาน 318.2 ตารางวา พืชผลไม้ยืนต้น 139 รายการ คิดเป็น 51% ของพื้นที่เวนคืน แต่ยังไม่เพียงพอในการเวนคืนพื้นที่ทั้งหมดที่จะใช้ในการพัฒนา ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืน
เนื่องจากในการเข้าสำรวจพื้นที่โดยละเอียด มีประเด็นการพิจารณา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ บางส่วนตกสำรวจ ราคาค่าทดแทนที่ประมาณการเดิมไม่สะท้อนราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด และยังไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเวนคืน เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น จึงมีการขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 606,635,385 บาท เพื่อใช้ในการเวนคืน ทั้งหมด 296 แปลง จำนวน 547 ไร่ รวมทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้นพืชผลทั้งหมด ซึ่งถ้าได้รับความเห็นชอบ จะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2569-2570 เพื่อมาดำเนินการเวนคืนพื้นที่ได้ครบถ้วน
ในส่วนของการจัดการจราจรทางอากาศได้มอบหมายให้วิทยุการบินฯ เร่งแก้ไขปัญหาต้นไม้สูงบริเวณแนวร่อนทางวิ่งฯ 08 เนื่องจากบดบังสัญญาณ Glide Slope ของระบบช่วยการเดินอากาศจนไม่สามารถให้สัญญาณมุมร่อนได้ถูกต้อง จนทำให้ออกประกาศปิดการใช้งาน โดยได้ให้วิทยุการบินฯ ติดตามการแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และประสานกับกรมท่าอากาศยาน ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้สามารถใช้งานระบบนำร่องได้สมบูรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสายการบินที่จะเข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ วิทยุการบินฯยืนยันว่าปัจจุบันยังสามารถให้บริการได้เต็มขีดความสามารถในการรองรับของสนามบิน ทั้งการรองรับของอาคารผู้โดยสาร และหลุมจอดของท่าอากาศยานตรังและยังคงมุ่งมั่นพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย และเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสู่การเป็นฮับการบินตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป