คิดเห็นแชร์ : ‘ความไว้วางใจ’ กับความสำเร็จของนโยบายพัฒนาเมือง

ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผมได้ใช้เวลาอยู่กับองค์กรนานาชาติจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านการพัฒนาเมืองและด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อพูดถึงต้นแบบนโยบายที่ประสบความสำเร็จ เรามักมองถึงหลายปัจจัย เช่น การวางเป้าหมายและ KPI ที่ชัดเจน กลไกการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม เจตจำนงทางการเมือง การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กฎหมายและการบังคับใช้ การติดตามและประเมินผล และอีกมาก

พอได้ขับเคลื่อนนโยบายระดับท้องถิ่นแล้ว พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จคือ ความไว้วางใจ (Trust) เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นอย่าง กทม. มีความใกล้ชิดกับประชาชน พบว่าแม้ปัจจัยต่างๆ เช่น แนวทางการดำเนินการ งบประมาณ อาจเตรียมมาอย่างดี

แต่ถ้าประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและยังไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ

ADVERTISMENT

ในเชิงทฤษฎีจะมีความไว้วางใจสองมิติ: “Horizontal Trust” (ความไว้วางใจในแนวนอน) คือความไว้วางใจที่สมาชิกในชุมชนมีต่อกัน และ “Vertical Trust” (ความไว้วางใจในแนวตั้ง) คือความไว้วางใจที่สมาชิกในชุมชนมีต่อองค์กรที่ปกครองดูแลชุมชนนั้น

ซึ่งสำหรับองค์กรนั้นมีสองปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ADVERTISMENT

เริ่มจาก 1.Cognitive หรือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรนั้นที่อิงกับประสบการณ์ และจะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและคุณภาพของการให้บริการ และ 2.Affective/Emotional ที่อิงกับอารมณ์ ที่จะเชื่อมโยงเป็นหลักกับความจงรักภักดีในแบรนด์ หรือ Brand Loyalty

แน่นอนว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ กทม.จะต้องดำเนินการและปัจจุบันมีหลายโครงการที่เน้นจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ ฟองดูว์ที่ประชาชนสามารถช่วยกันแจ้งปัญหาต่างๆ ผ่านมือถือได้ โดยถ่ายภาพและลงพิกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะตกค้าง ฟุตปาธชํารุด หรือรถเมล์ควันดำ

โดยตัวแอพพลิเคชั่นจะส่งเรื่องไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือโครงการขอใบอนุญาตก่อสร้างออนไลน์ สำหรับบ้านขนาดไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ไม่เกิน 3 ชั้น

นอกจากนั้น ยังมีนโยบาย Open Bangkok ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เช่น เผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. ให้เป็นไปตามมาตรฐาน Open Contracting Data Standard

เช่นเดียวกันกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผมรับผิดชอบ พบว่าความไว้วางใจก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด

ตัวอย่างแรก คือ โครงการส่งเสริมการแยกขยะ ประเด็นนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาขาดความไว้วางใจจากประชาชนอย่างมาก ที่จะได้ยินตลอดเวลาลงพื้นที่คือจะแยกทำไม เดี๋ยว กทม.ก็เทรวมอยู่ดีแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบจัดเก็บว่ามีการเก็บแยกประเภทจริงหรือไม่ และเมื่อเก็บไปแล้วขยะจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่

การตั้งข้อสังเกตเรื่องการเท รวมนี้เริ่มมีการพูดคุยถี่ขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ กทม.ได้ประกาศโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมหรือที่หลายคนคุ้นคือการปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมขยะใหม่จาก 20 บาทต่อเดือน (สำหรับครัวเรือนที่ขยะไม่เกิน 20 ลิตร หรือ 4 กก.) เป็น 60 บาท

กรณีที่มีการแยกขยะและลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น BKK Waste Pay ของ กทม. จะได้รับการลดหย่อนลงมาเป็น 20 บาท ซึ่งประชาชนอาจตั้งคำถามว่า เมื่อมีการเก็บอัตราที่สูงขึ้นและมีการให้แรงจูงใจในการแยกขยะแล้ว กทม.จะปรับปรุงระบบการจัดการหรือไม่

ประเด็นนี้ วนกลับมาเรื่องของความเชื่อมั่น ถือว่าเป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่ กทม.ต้องทำเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

ประเด็นแรก คือ ต้องทำให้ง่ายและสะดวกกับประชาชน สื่อสารให้ชัดว่าจะต้องแยกขยะประเภทไหนและทิ้งอย่างไร เราเน้นมากที่สุด คือ เศษอาหาร เนื่องจากมีสัดส่วนถึง 50% ของขยะทั้งหมด เป็นตัวที่ก่อความเหม็นและทำให้ขยะปนเปื้อนไม่สามารถไปสร้างประโยชน์ต่อได้

ภายใต้โครงการนี้ กทม.จะแจกถุงเขียวให้กับทุกครัวเรือนที่มีการลงทะเบียน เพื่อที่จะสร้างความชัดเจนของการทิ้งขยะ เศษอาหาร ส่วนรีไซเคิล ถ้าประชาชนนำไปขายกับภาคเอกชนที่เป็นภาคีของ กทม. จะมีการเชื่อมข้อมูลหลังบ้านเพื่อทำให้เราทราบว่าครัวเรือนไหนแยกขยะบ้าง

ประเด็นที่สอง คือ การสร้างความเชื่อมั่นของการจัดการขยะแบบครบวงจร กรณีของเศษอาหารที่แยกใส่ถุงเขียวมาแล้วจะต้องมีรถเก็บเศษอาหารเฉพาะมาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ตามที่สำนักงานเขตกำหนด และเศษอาหารที่ถูกจัดเก็บแล้วจะถูกนำไปส่งที่โรงงานกำจัดที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงหมักปุ๋ย หรือโรงผลิตก๊าซชีวภาพ

ถ้าในเบื้องต้น กทม.สามารถพิสูจน์สองข้อนี้ได้ จะสามารถสร้างความไว้วางใจของประชาชนได้อย่างแน่นอน

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ โครงการ BKK Food Bank ซึ่งเป็นโครงการที่ขอของส่วนเกินหรือของบริจาคจากเอกชนหรือประชาชน เพื่อนำไปส่งต่อให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยรับทั้งของสด เช่น อาหารที่ยังไม่หมดอายุ แต่ร้านไม่ขายแล้ว หรือ ของแห้ง เช่น เสื้อถ้าใช้แล้วที่สภาพดี หรือของบริจาคจากวัดที่มีมากเกินความต้องการ เมื่อได้ของแล้วจะนำไปส่งตรงที่ชุมชน หรือนำกลับมาในมินิมาร์ตในเขตที่จะมีการให้แต้มกับกลุ่มเปราะบางมาแลกซื้อด้วยศักดิ์ศรี

ในมิติของความไว้วางใจ ภาคเอกชน หรือผู้บริจาค ต้องเชื่อมั่นว่า กทม.ได้ส่งของไปถึงมือผู้รับจริง มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งหนึ่งในงานหลักของ BKK Food Bank คือ การพัฒนาระบบดิจิทัลหลังบ้านที่สามารถดูได้ว่าของบริจาคทุกชิ้นถูกเก็บสต๊อกไว้ที่ไหน ของที่กระจายไปแล้วถูกส่งไปให้ใคร เมื่อไหร่

ในกรณีของสด เช่น ขนมปัง ผักผลไม้ ต้องมีระบบการตรวจคุณภาพทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงของภัยอันตรายต่อสุขภาพ

จากสองกรณีนี้ เราเห็นว่างานของ กทม.จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมนอกเหนือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือจากประชาชน ซึ่งความร่วมมือนี้จะแข็งแรงมากน้อยขนาดไหนนั้น หนีไม่พ้นความไว้วางใจที่ฝ่ายต่างๆ มีต่อองค์กร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image