ททท.วาง 5 พันธกิจขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0
การท่องเที่ยวไทยที่มั่นคง จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรมีนโยบายและคู่มือการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมาต่อเนื่อง
ภายใต้การกำกับดูแลของ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงกำหนดพันธกิจหลัก ดังนี้
1.ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ในการขยายฐานตลาดคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย
2.สร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายนักท่องเที่ยว
3.ขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยว (Tourism Ecosystem) ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืน
4.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการตลาดและบริการข้อมูลด้านการตลาดการท่องเที่ยวที่ครบถ้วน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5.เสริมสร้าง ททท. เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization) บนพื้นฐานของนวัตกรรมและธรรมาภิบาล
นิยามการพัฒนาความยั่งยืนของ ททท. คือ จะต้องมีความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกในปัจจุบันโดยไม่สูญเสียความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกในอนาคต โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ร่วมกับการพัฒนาความรู้และทักษะเชิงผสมผสาน (Power Skill) ที่จะนำไปสู่การยกระดับห่วงโซ่คุณค่า การส่งเสริมความสัมพันธ์กับเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน และการเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว
ททท.ได้จัดให้มีการทบทวนนโยบายและคู่มือฯ เพื่อให้สาระสำคัญของนโยบายและคู่มือ ดังกล่าวมีความครบถ้วน ทันกาล และสอดคล้องไปกับสถานการณ์การพัฒนาความยั่งยืนในโลกยุคปัจจุบันที่คำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการปฏิบัติงาน การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อให้ ททท.มีนโยบายและคู่มือฯ ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแนวทาง หลักการอันเป็นมาตรฐานสากลที่คณะกรรมการให้การยอมรับและมุ่งมั่นให้เกิดการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs), มาตรฐาน ISO 21401, มาตรฐาน ISO 26000, AA 1000 Stakeholder Engagement Standard (AA1000SES), Eco-Efficiency, Global Sustainable Tourism Council Criteria, Environment Social and Governance (ESG) Framework และ Global Reporting Initiative (GRI) โดยคาดหวังให้นโยบายและคู่มือฯ ฉบับนี้จะสามารถเป็นกรอบหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีแก่คณะกรรมการ ผู้บริหารทุกระดับ พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกทุกกลุ่มของ ททท.นำไปใช้พัฒนาและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นภาครัฐที่เป็นหน่วยงานผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยทุกปีได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาความยั่งยืนผ่านระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี จากกรณีดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการของ ททท. ต้องเร่งวางแนวทางและจัดทำนโยบายและคู่มือการพัฒนาความยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ หรือ สคร.ให้การยอมรับ พร้อมเผยแพร่เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริง และจัดทำเป็นรายงานผลความยั่งยืนนำเสนอให้ สคร. และสาธารณะสามารถติดตามได้อย่างสม่ำเสมอทุกปี
การดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ จะทำให้ ททท.สามารถก้าวสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง บนพื้นฐานความร่วมมือจากทั้งบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมรับรู้ เข้าใจ และยอมรับที่จะยึดปฏิบัติตามหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีที่ระบุไว้นี้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมของ ททท. ที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดอย่างสมดุลแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ททท.คาดหวังให้องค์กรเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความยั่งยืนของทั้งประเทศไทย ภูมิภาค และโลก จึงกำหนดให้นำเป้าหมาย SGDs ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาพิจารณาร่วมกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของ ททท. และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยครอบคลุมมิติสำคัญตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การกำกับดูแล เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ประกอบการวางแผนวิสาหกิจขององค์กรเป็นประจำทุกปี โดยปัจจัยยั่งยืนจะมีการทบทวนทุกปีก่อนนำเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายและคณะกรรมการ ททท. พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อมอบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นยุทธศาสตร์ หรือแผนงานโครงการใหม่ ด้านการพัฒนาความยั่งยืนบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม
รวมถึงมุ่งใช้ระบบบริหารความเสี่ยงลดผลกระทบ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากความไม่แน่นอนของสภาพการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่ส่งผลต่อการพัฒนาความยั่งยืน จึงได้เสริมสร้างระบบการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการกำกับให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานให้เป็นระบบพื้นฐาน เพื่อการกำกับ บริหาร และตรวจติดตามการพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับระบบบริหารจัดการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีโครงสร้างผู้รับผิดชอบ นโยบาย คู่มือปฏิบัติงาน และแผนการดำเนินงานทั้งระยะยาวและประจำปีด้าน GRC ในเชิงบูรณาการนำส่งให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายและคณะกรรมการ ททท. พิจารณาหรือรับทราบตามความเหมาะสม และนำไปถ่ายทอดจนเกิดการปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทวงการคลัง กำหนดเป็นอย่างน้อย
ททท.มุ่งเน้นการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 จึงกำหนดนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบระบบงานและกระบวนการทำงานทั่วทั้งองค์กร โดยเฉพาะในด้านที่ส่งผลต่อความสำเร็จของวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของ ททท. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในการดำเนินการคณะกรรมการ ททท. ได้มอบหมายให้กองบริหารความยั่งยืน และงานนวัตกรรมองค์กร ร่วมกับฝ่ายยุทธศาสตร์ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของ ททท. นำมาระบุได้ถึงปัจจัยยั่งยืนในทุกมิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
ก่อนเชื่อมโยงปัจจัยยั่งยืนดังกล่าวกับการวางแผนบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อทำให้ ททท.มีกรอบหรือเส้นทางการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการปฏิบัติงาน หรือแบบจำลองทางธุรกิจ ที่สามารถสนับสนุนและทำให้ปัจจัยยั่งยืนต่างๆ เกิดความแข็งแกร่ง จนเกิดผลผลิต และผลลัพธ์ได้ตามที่คาดหวัง
ในการแสดงได้ถึงผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ททท.ได้มอบหมายให้กองบริหารความยั่งยืน และงานนวัตกรรมองค์กร ร่วมกับฝ่ายยุทธศาสตร์ เป็นหลักในการจัดทำหรือทบทวนกลไกและแนวทางการติดตามและประเมินผลสำเร็จ ก่อนนำเสนอผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการจัดการนวัตกรรมระยะยาว 3-5 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปีดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กร และคณะกรรมการ ททท. ติดตามได้อย่างครบถ้วนเป็นรายไตรมาสต่อไป