อนุสรณ์ชี้กองทุนสำรองคริปโท สัญญาณจุดเปลี่ยนการเงินโลก แนะเปิดเสรีเวอร์ชวลแบงก์
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การจัดตั้ง กองทุนสำรองคริปโททางยุทธศาสตร์ (Strategic Bitcoin Reserve) ของรัฐบาลทรัมป์ เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของระบบการเงินโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า คริปโทจะกลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่นำมาใช้บริหารความเสี่ยงจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ จากหนี้สาธารณะมหาศาลและการขาดดุลการค้าเรื้อรังของสหรัฐ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผลการสำรวจ Fort Knox ทองคำสำรองจะมีหรือไม่มีเท่าที่ประกาศเอาไว้ ผลกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐ และระบบการเงินโลกจะบรรเทาลง เพราะคริปโทจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนสำรองระหว่างประเทศ กองทุนสำรองคริปโทจะทำให้ “คริปโทเคอร์เรนซี” มีราคาและมูลค่าสูงขึ้นโดยที่ คุณค่า (Intrinsic Value) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ยังเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรและการลงทุน มากกว่ามีคุณค่าของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) จึงคาดการณ์ได้ว่า กองทุนสำรองคริปโททางยุทธศาสตร์เพียงช่วยทำให้ “ฟองสบู่คริปโท” รอบใหม่ แตกช้าลงเท่านั้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การ Tokenized ระบบการเงินและเศรษฐกิจ ทำให้ระบบการเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานและระบบการจ้างงานเปลี่ยนไป มีแนวโน้มของการทำให้เกิด Tokenization ในหลายประเทศ ผลของ การ Tokenization ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดว่าเราควรจะมีแนวทาง นโยบายและการบริหารจัดการในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง การ Tokenized Economy จะต้องมีกระบวนการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเงิน อาทิ หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงสินทรัพย์การลงทุนอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้สามารถครอบครองความเป็นเจ้าของผ่านโทเคนดิจิทัลและสามารถที่จะซื้อขายหรือโอนให้กันผ่านบล็อกเชนได้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจลงอย่างมาก การทำธุรกรรมหลายอย่างไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยเฉพาะต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศจะลดลงมากที่สุด
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เพิ่มขึ้น การเปิดกว้างให้มีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขามากขึ้น จะลดอำนาจผูกขาดในระบบธนาคารลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยราคาที่ถูกลงอย่างมาก การมีธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ระดับหนึ่ง ขยายโอกาสธนาคารและบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Neo Banks) จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคการลงทุนลดลง
“การธนาคารและการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ในระบบธนาคารดิจิทัลที่ไร้สาขานี้ จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานที่ปล่อยของเสีย เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของต้นทุนอาคารสถานที่และอุปกรณ์ในเครือข่ายสาขา ต่อต้นทุนการดำเนินการทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 13-20% การสามารถลดต้นทุนการดำเนินการเครือข่ายสาขาได้ลงอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารและลูกค้าลดลงได้ สามารถนำต้นทุนที่ลดลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการเงินได้มากขึ้น รวมถึงลดจ้างพนักงานแบบเดิม เพิ่มแรงงานทักษะสูงมากขึ้น ต้นทุนต่ำลง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รูปแบบดั้งเดิมถึง 3-4% มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูก ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่สังคมไทยและรัฐบาลควรติดตามใกล้ชิด คือ ความร่วมมือของเมียนมา และ รัสเซีย ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แม้เป็นดินแดนและพื้นที่ของพม่า แต่ห่างจากกรุงเทพฯ และศูนย์กลางของประเทศไทยประมาณ 300 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนในบางจุดประมาณ 100 กิโลเมตร รัฐบาลไทยควรหารือกับรัฐบาลเมียนมา เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อระบบความมั่นคงและปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อนที่จะเริ่มต้นการก่อสร้าง นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวของรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย และกลุ่มทุนรัสเซียภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลปูติน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์นโยบายภูมิรัฐศาสตร์ให้เหมาะสม การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอยู่ มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ประเทศไทยควรใช้เวทีอาเซียนในการทำให้เกิดหลักประกันระบบความปลอดภัยขั้นสูงของระบบโรงไฟฟ้าในเมียนมา หากเราไม่ดำเนินการเชิงรุกความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงอาจเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต