ผู้เขียน | รุ่งเรือง พิทยศิริ |
---|
วิจิแล้นท์
ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า วิจิแล้นท์ มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Vigilant ซึ่งหมายถึงว่าต้องปราดเปรียว ว่องไว หลบหลีกได้ทัน เพื่อต้องการสื่อความหมายว่า ในสภาพการณ์ตอนนี้ของโลกที่แย่งชิงไหวชิงพริบกันทุกๆวัน เราจะอยู่รอด อยู่ได้ อยู่ดี ต้องมีความวิจิแล้นท์ คือต้องไว ต้องทัน และมีแผนงานรอบรับในทุกเรื่อง ทุกประเด็น เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐ มันมีเรื่องของนโยบายใหม่ๆ ที่ออกมาสร้างความตื่นเต้นมากมาย และช่วงที่ผ่านมาก็เป็นช่วงของการทดสอบว่าจะนโยบายไหนจะปฏิบัติจริง มากน้อยขนาดไหน และก็มีเรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรมชิบและเอไอ ที่เร่งแข่งขันกันเองอย่างมากมาย และกีดกันกันเองระหว่างขั้วอำนาจฝ่ายสหรัฐกับจีน
บริษัทไหนหยุดเร่งสู้กับการเปลี่ยนแปลง บริษัทนั้นตายสถานเดียว
โลกอยู่ยากจริงๆครับ ผมต้องบอกอย่างนี้ เพราะนโยบายเดียวกัน คือเรื่องของการขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อกีดกันคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ มันกลับส่งผลกระทบในวงกว้างมากๆ เริ่มต้นจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่า การสร้างกำแพงภาษีจะทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในประเทศที่ออกนโยบาย ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐกลับแข็งค่าอย่างมาก ตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้งมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยลงเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์เงินเฟ้อ
แต่แล้วการเกิดผลกระทบต่อคู่ค้าจำนวนมากบนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตที่เปราะบาง ความกังวลของการเอาจริงของสหรัฐ เกิดผลจริงเช่น การเข้าไปแทรกแซงคลองปานามา การกลับไปกลับมาของทรัมป์เพราะคงเห็นผลแรงเกิดคาด และบนสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างค่ายสหรัฐกับรัสเซียที่เกิดควบคู่ไปด้วยนั้น ทำให้ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมันกลับลดลงเกินกว่าที่คิดไว้ตอนแรก
แม้ว่าการสร้างกำแพงภาษีจะอยู่ในอัตราที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ก็ตาม ไม่ได้เป็นเรื่องตัวเลขใหม่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด มันทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดความวิตกกังวล จนเงินกลับไหลเข้าตลาดพันธบัตรสหรัฐอย่างมาก จนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้เงินดอลล่าร์กลับอ่อนค่าแทน มาพร้อมกับความกลัวเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว
สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ฝรั่งเศส ที่แย่หนักอย่างมาก ทำให้รัฐบาลใหม่ของเยอรมัน พี่ใหญ่สุดของยุโรป ต้องออกตั้งงบประมาณขาดดุลมหาศาล วางแผนใช้เงินมากถึง 500,000 ล้านยูโร เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงฝรั่งเศสที่ตั้งงบประมาณลงทุนด้านกลาโหม การซื้ออาวุธจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงในภูมิภาค ก็ยิ่งทำให้ตลาดมีความสบายใจขึ้นว่ามีการทำอะไรเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของยุโรป ทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ยิ่งทำให้ดัชนีค่าเงินดอลล่าร์ร่วงลงมากที่สุดในรอบปี
ค่าเงินกลับทางกับทฤษฎีการสร้างกำแพงภาษี ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ทั้งโลก บอกว่าต้องถือดอลล่าร์สถานเดียวเพื่อป้องกันตนเองจาก Trade Tariff ผมถึงบอกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ และผมก็กำลังจะบอกต่อว่า เดี๋ยวอะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีกว่า ค่าเงินดอลล่าร์ก็อาจจะกลับมาแข็งค่าใหม่ได้อีก หากสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะประกาศในช่วงหน้านี้ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่หนึ่ง ออกมาไม่แย่ เพราะตอนนี้พอค่าเงินดอลล่าร์อ่อน นักวิเคราะห์จำนวนมากก็แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างแรง ส่วนยุโรปไม่ต้องพูดถึงเพราะใกล้ถดถอยเต็มแก่แล้วครับ
ผมก็ภาวนาครับว่าขออย่าให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงตอนนี้เลยครับ เพราะหากชะลอจริง ผมคิดว่าโมเมนตัมผลกระทบมันก็จะมาถึงไทย มากกว่าเดิม แค่ตอนนี้ก็แย่มากแล้ว ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเหนื่อยขึ้น เพราะว่าไทยคงเละเป็นโจ๊กแน่นอน เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้มองหาอนาคตไม่เจอเลย เราไม่มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือแล้ว และเงินที่กระตุ้นอยู่ตอนนี้มันก็ไปกระตุ้นที่ภาคการบริโภคทั่วไป ที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย
ปัญหาใหญ่ของเราคือภาคการลงทุนของเอกชน เอกชนไม่ลงทุน ไม่จ้างงาน มีแต่ภาคการท่องเที่ยว ที่พอประคับประคองได้อ่อนๆ รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เรียกว่าติดหล่มกับดักเพดานหนี้สาธารณะ
นอกจากนั้น สถานการณ์การเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำท่าว่าจะไม่ราบรื่นง่ายๆเหมือนที่ทรัมป์คุยไว้ตอนแรก เพราะมันเป็นการขยายผลแนวคิดในการลดงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐ ตั้งแต่งบในกลุ่มนาโต้ มาสู่การลดการสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธให้ยูเครน เว้นแต่จะมีข้อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้สหรัฐ มีการอ้างตัวเลขการสนับสนุนในอดีตที่ให้เปล่า หรือให้ยืมมีดอกเบี้ย กับยูเครน ผิดๆถูกๆกัน ตลอดจนหยุดการสนับสนุนไปก่อน เพื่อรอผลการเจรจา มีการทะเลาะกันออกสื่อ ในที่สุดยูเครนก็ไปพึ่งเย็นที่ยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส แม้ว่ายุโรปออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนยูเครน และเป็นกาวใจเจรจากับสหรัฐให้
แต่ในที่สุดก็เหมือนกันคือฝรั่งเศส ก็ขอเงื่อนไขเดียวกับสหรัฐ และอังกฤษก็คงจะเช่นกัน ตอนนี้ก็เลยว่า ไม่ว่าสหรัฐหรือยุโรปจะสนับสนุนยูเครนต่อไป ต้องแลกเปลี่ยนการให้แร่หายากกับสหรัฐ ซึ่งตอนนี้สหรัฐกับยุโรปกำลังแย่งกันเองด้วย ไม่รู้ว่าพอออกมาแย่งกันเองแบบนี้ สหรัฐจะทำยังไงต่อไป ยากเกินคาดเดา แต่รัสเซียก็ยังไม่ยอมหยุดเดินหน้าสร้างสงครามต่อไป สรุปคือยังไม่ยอมยุติง่ายๆ ถ้าไม่มีข้อแลกเปลี่ยนที่กำลังโดนรุมทึ้งกัน
สถานการณ์โลกตอนนี้ไม่มีอะไรดีครับ มีเพียงจีนที่ออกมาตั้งรับผลกระทบนโยบายการค้าเต็มที่ ยืนยันว่าพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ จะสามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ 5% ค่อนข้างแน่นอน
ในขณะที่ตอนนี้ AI Startup สัญชาติจีน Deepseek ได้เจอคู่แข่งรายใหม่ที่ออกมาประกาศตัวแล้ว ชื่อ Mistral เป็น AI Startup สัญชาติสเปน-ฝรั่งเศส ที่ออกมาเปิดเผย AI Opensource ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าของ Deepseek มาก ซึ่งใช้เงินไม่เยอะมากเหมือนบริษัท AI ชั้นนำของโลก แต่คงมากกว่า Deepseek เพราะการเชื่อมต่อ Data Source เยอะและมีประสิทธิภาพดี หากบริษัท Mistral สามารถทำได้จริงตามที่ได้เปิดเผยตามนี้ ผมเชื่อว่า น่าจะทำให้หุ้นเทคโนโลยีของจีน ปรับตัวลดลงแน่นอน เพราะหุ้นเทคของจีนที่ขึ้นมาก่อนหน้านี้มากมาย ก็เพราะสนองตอบต่อการพัฒนาของ Deepseek
Mistral อาจจะสร้างผลดีต่อสหรัฐ เพราะเขาเป็นพวก AI ฝั่งตะวันตก ย่อมจะทำให้การพัฒนา AI ในกลุ่ม Nvidia Oracle Arm TSMC Intel พวกนี้ ดีขึ้น ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นเทคโนโลยี Nasdac และสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ และโครงการ Stargate ของทรัมป์ที่นำโดย Softbank และ Oracle
ข่าวเล็กๆ อาจจะสร้างข่าวใหญ่และผลกระทบมากมาย เหมือนข่าวของ Deepseek ก่อนหน้านี้ ผลก็อาจจะเกิดตรงข้าม เหมือนผมได้เน้นการสื่อสารบทความนี้ว่า ต้องว่องไว ต้องเข้าใจ มันกลับไปกลับมาได้จริงๆ
ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ชะลอตัวลงมากเหมือนบรรดานักวิเคราะห์คาดกัน ผมเชื่อว่า ดอลล่าร์จะกลับมาขึ้นมา ตามแนวทางเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังเหนียวแน่น และทฤษฎีของอัตราผลตอบแทน ที่ดอกเบี้ยเงินสกุลยูโร มีผลตอบแทนที่ต่างกับสหรัฐถึงเกือบสองเปอร์เซ็นต์ ค่าเงินยูโรจะวิ่งไปได้ขนาดไหน แม้ว่าเยอรมันจะกระตุ้นมากมายขนาดไหน ผมก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจก็คงโตขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ เพราะมันเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การอัดฉีดเงินลงในระบบแบบ QE
ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทุกคนต่างหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเองทั้งนั้น
แต่เราประเทศไทย ไม่มีเงินจะมากระตุ้นแล้ว ทำได้แต่เพียงเอาเงินลงทุนในงบประมาณมาเร่งการเบิกจ่ายเท่านั้น ไม่สามารถคิดมุมอื่นได้เลย เว้นแต่จะใจถึง ยอมขยายเพดานหนี้ และของใหม่ต้องดีจริง
เหนื่อยใจจริงๆ จริงๆแล้วจะเบิกจ่ายงบประมาณได้มากก็คงไม่สามารถเกินกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 75 ได้หรอกครับ เพราะงบประมาณลงทุนตัวใหญ่ๆหากจะติดขัด ล้วนเป็นที่การส่งมอบที่ดิน เงื่อนไขตามสัญญา และการเวนคืน ซึ่งไม่ใช่แก้ได้ด้วยการสั่งหรือทุบโต๊ะ หากทำได้ไม่เกินร้อยละ 75 ก็ไม่สามารถดันจีดีพี เพิ่มจากที่ประมาณการไว้ได้ครับ
สำหรับเศรษฐกิจโลก ผมว่าตอนนี้ประชาคมโลกต้องการแนวนโยบายสำคัญของมหาอำนาจที่นิ่ง จะเอาทางไหนก็ว่ากันไปเลย
ในขณะเดียวกันแต่ละเศรษฐกิจประเทศ ขอให้สามารถดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายได้บ้างอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่ต้นทุนขยับสวนทางอย่างญี่ปุ่นก็ขอให้ขยับแบบอย่าช็อคตลาด ทุกอย่างต้องการสายกลาง ถ้าฝั่งแรงงานเรียกร้องเกิน นายจ้างก็เดินต่อลำบาก
ทุกอย่างมันก็จะเกิดขึ้นแบบไม่สมยอม อะไรที่ไม่สมยอม จะตามมาด้วยการชะลอตัว
ถ้าเศรษฐกิจของโลกสามารถขยับเดินหน้าไปเรื่อยๆ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีเอไอ ผมเชื่อว่าจะฝ่าด่านหินๆไปได้ เวลาต่อไป คงต้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ไปเดินเรื่องอื่นๆบ้าง เช่น เรื่อง Social Securities หรือเรื่องสานต่อการสร้างกำแพงตามแนวชายแดน