ภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้น ปตท.จ่อรีวิวเป้า Net Zero เร่งซีซีเอส-ไฮโดรเจน รอรัฐชัดเจน
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยระหว่างพาคณะสื่อมวลชนดูงานไฮโดรเจน ประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยปัจจัยทั่วโลกที่เผชิญทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจะต้องใช้อย่างชาญฉลาด หลังจากปีที่ผ่านมา ปตท.มุ่งเน้นปรับกลยุทธ์การลงทุน
ล่าสุด ปตท.อยู่ระหว่างรีวิวเป้าหมาย Carbon Neutrality 2040 และ Net Zero 2050 ใหม่อีกครั้ง จะเน้นดูภาพรวมทั้งกลุ่มตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน จึงต้องดูช่วงเวลาเหมาะสมสุด เพราะทุกกระบวนการมีต้นทุน อาจจะช้าหรือเร็วเป็นไปได้หมด
นายคงกระพันกล่าวว่า เป้าหมายความยั่งยืนจะปลูกป่า 2 ล้านไร่ เป็นวิธีที่ต้นทุนถูกสุด พร้อมเดินหน้า 2 เรื่องสำคัญ คือ
1.ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ผ่านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ได้ศึกษาทำแหล่งแซนด์บ็อกซ์ในแหล่งอาทิตย์ 1 ล้านตัน โดยต้นทุนการทำแท้จริงยังไม่สามารถระบุได้ นอกจากนี้จะต้องรอภาครัฐกำหนดกฏกติกาและกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องบูรณาการร่วมกันอย่างรอบคอบ ปัจจุบันภาครัฐมีคณะทำงาน และอีกส่วนยังมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมโลกร้อน ขับเคลื่อน โดยปัจจุบันสหรัฐเห็นความคุ้มค่า CCS รัฐบาล จึงอุดหนุนราคา 85 ดอลลาร์ต่อตันเพื่อเก็บคาร์บอน
2.ไฮโดรเจน ด้วยภาครัฐกำหนดสัดส่วนการผสมไฮโดรเจน 5% ในปี 2030 ดังนั้น เบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าก่อน อาจเป็นตะวันออกกลาง อินเดีย เพราะต้นทุนถูก ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับแสนตัน
“การลงทุนทั้ง 2 เรื่อง ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย การกักเก็บคาร์บอน การกำหนดไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หาก ปตท.ลงทุนมั่นใจจะดึงดูดการลงทุนใหม่จากเอกชนที่ต้องการพลังงานสะอาด จีดีพีขยายตัว เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจจะประเมินอีกครั้ง” นายคงกระพันกล่าว
นายคงกระพันกล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เล็ก หรือ SMR อยู่ระหว่างศึกษาโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
ทั้งนี้ ปี 2568 ปตท.จะเน้นสร้างความมั่นคงและเติบโต โดยลดความเสี่ยงธุรกิจ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจจากการที่โลกมียังมีความวุ่นวาย ผันผวน รวมถึงธุรกิจที่มีอยู่ในช่วงขาลงไม่สมดุลกัน ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าปตท. จะไม่ลงทุนแต่การลงทุนจะดูความคุ้มทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดด
“สำหรับความคืบหน้าการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจของไทยออยล์ ไออาร์พีซี และจีซี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเจรจา” นายคงกระพันกล่าว