หอการค้า ชี้พิษทรัมป์ 2.0 ทุบส่งออกติดลบ 1.6 แสนล้านบาท ฉุดจีดีพีไทย 0.87%

หอการค้า

หอการค้า ชี้พิษทรัมป์ 2.0 ทุบส่งออกติดลบ 1.6 แสนล้านบาท ฉุดจีดีพีไทย 0.87%

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลกระทบของทรัมป์ 2.0 หลังจากมีการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐ จีน ยุโรป รวมถึงเม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งต้องติดตามว่าในอาเซียนจะมีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐหรือไม่ เพราะมี 2 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูง ได้แก่ เวียดนามและไทย อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ทางตรงคิดเป็นมูลค่าติดลบ 108,714 ล้านบาท ส่งออกติดลบ 1.03% ส่งผลต่อจีดีพีลดลง 0.59% ทางอ้อม อาทิ ส่งสินค้าไปยังจีนและสหรัฐที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่งออกติดลบ 0.49% ผลต่อจีดีพีลดลง 0.28% รวมเม็ดเงินที่สูญเสียไปประมาณ 160,472 ล้านบาท ส่งออกติดลบ 1.52% ผลต่อจีดีพีลดลง 0.87%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อม ที่อาจมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะสินค้าจีนส่งไปขายสหรัฐด้วยราคาต้นทุนที่แพงขึ้น อาทิ จีนขายโน๊ตบุ๊คให้สหรัฐ ราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,600 เหรียญสหรัฐ ยอดขายปรับลดลง ไทยที่ส่งสินค้าชิ้นส่วนประกอบไปขายให้จีนก็จะส่งออกปรับลดลงเช่นกัน เพราะสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ เหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สรุปขนาดของผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการภาษีของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เบื้องต้น มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทย ลดลงประมาณ 56,067 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.30% ของจีดีพี

หอการค้า

“หากมีผลกระทบจากทรัมป์ 2.0 มากกว่านี้ เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในโซนย่อตัวลงจากเป้าหมาย ที่คาดการณ์จีดีพียังโตตามกรอบ 3% ยังเป็นไปได้ แต่ต้องติดตามกำลังซื้อจากสินค้าเกษตรที่ราคาตกลงไป อาทิ ข้าว รวมถึงการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้งในไตรมาส 2/2568 เป็นต้นไป” นายธนวรรธน์ กล่าว

ADVERTISMENT

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้าเสนอให้มีการจัดตั้งทีมทำงานพิเศษ เพราะมีความจำเป็นในการประเมินผลกระทบ แบ่งรับแบ่งสู้เพื่อเจรจาต่อรองกันระหว่างสหรัฐและไทย โดยต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ด้านเกษตร การค้า อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เพราะรู้ถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขแบบทันที รวมถึงการปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พักการโอนแจกเงิน หันมาเน้นในด้านการลงทุนแทน อาทิ ลดหย่อนภาษีเพิ่ม 2 เท่า สำหรับหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น (อบต. และ อบจ.) ใช้งบจัดอบรมในส่วนต่างๆ หรือการจ้างงานเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการคนละครึ่งคูณสอง ที่รัฐใช้งบกระตุ้น 50% ดึงเงินประชาชนใช้จ่ายอีก 50% เพื่อให้เม็ดเงินหมุนในระบบหลายรอบมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image