จับตาคำพิพากษา 8 เม.ย. คดี ‘ไตรรัตน์’ ฟ้อง 4 บอร์ด กสทช.เสียงข้างมาก รวม ‘พิรงรอง’

ระทึกคดี ‘ไตรรัตน์’ ฟ้อง 4 บอร์ด กสทช. ศาลอาญาคดีทุจริตนัดอ่านคำพิพากษา 8 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 155/2566 ซึ่งศาลคำฟ้องเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช.  ฟ้อง กรรมการ กสทช. จำนวน 4 คน ว่ากลั่นแกล้งตน ในวันที่ 8 เมษายน

โดย 1 ใน 4 กรรมการ กสทช.รวมถึง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ด้วย จากกรณีที่บอร์ดเสียงข้างมากมีมติให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ สืบเนื่องจากกรณีการอุดหนุนลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช.

เหตุที่มาของการฟ้องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของกรรมการ กสทช. 4 คนได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองศาสตราจารย์, ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก ให้เป็นไปตามข้อเสนอในรายงานของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีลิขสิทธิ์บอลโลก ที่เห็นว่า การกระทำของนายไตรรัตน์อาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง มติที่ประชุมของ กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำกับสำนักงาน กสทช.

ADVERTISMENT

อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯดังกล่าวจึงเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ และให้เปลี่ยนตัวรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะจบสิ้น เพื่อไม่ให้มีการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานและกระบวนการ

อนึ่ง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับการกีฬาแห่งประเทศไทยระบุชัดเจนว่า ในการรับเงินสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท การกีฬาแห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช.ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และการกีฬาแห่งประเทศไทยก็รับทราบก่อนลงนามใน MOU แล้วว่าสำนักงาน กสทช.มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับกฎ must have / must carry เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี หลังจากลงนามใน MOU กับสำนักงาน กสทช.เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 กับ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และมอบสิทธิในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ให้กับกลุ่มทรูแลกกับการสนับสนุนเงิน 300 ล้านบาท โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่ามีเงินไม่พอซื้อค่าลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งสูงถึง 1,200 ล้านบาท จึงต้องรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากองค์กรภาคเอกชนหลายแห่ง รวมทั้งกลุ่มทรูด้วย

การทำบันทึกข้อตกลงในภายหลังส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตประเภทเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และไอพีทีวีต้องจอดำ ไม่สามารถถ่ายทอดการแข่งขันบอลโลกได้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากกลุ่มทรูว่าเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งในรายงานสอบข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า นายไตรรัตน์ I ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการเลขาฯกสทช. เป็นผู้แจ้งการกีฬาแห่งประเทศไทยว่าสามารถทำ MOU เพิ่มเติมกับกลุ่มทรูได้ ซึ่งขัดแย้งกับ MOU ที่ได้ตกลงมาก่อนหน้ากับสำนักงาน กสทช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image