กลยุทธ์ลงทุนเมื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ คือความแน่นอนอย่างเดียวในปีนี้

กลยุทธ์ลงทุนเมื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ คือความแน่นอนอย่างเดียวในปีนี้

ปี2025 เป็นปีที่เริ่มต้นได้น่าตื่นเต้นและผันผวนที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง ตลาดเต็มไปด้วยความหวังว่า Trumponomics รอบนี้จะกลับมาหนุนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

ตลาดจะทำจุดสูงสุดใหม่และไม่มีทางติดลบแน่นอน เพราะ Trump ตั้งใจดูแลตลาดหุ้นที่สุด ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีฝั่งสหรัฐก็พัฒนาไกลเกินกว่าใครจะเทียบได้ นอกจากนี้ ยังมี Fed ที่พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจมีปัญหา

แต่ความแน่นอนเหล่านี้กลับเปลี่ยนเป็นความไม่แน่นอนอย่างรวดเร็ว

ADVERTISMENT

เมื่อนโยบายแรกที่ทีมเศรษฐกิจของ Trump นำเสนอ กลับเป็นมาตรการกีดกันการค้า ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสหรัฐปรับตัวลง ความกังวลเงินเฟ้อสูง โอกาสการลดดอกเบี้ยของ Fed ลดลงพร้อมกับความน่าสนใจของตราสารหนี้สหรัฐ ท้ายที่สุดส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปด้วย กลายเป็นผลตอบแทนของตลาดการเงินสหรัฐหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1937

ทั้งหมดเกิดจากความไม่แน่นอนที่ Trump สร้างขึ้น และความไม่แน่นอนเหล่านี้กำลังทำให้ความแน่นอนเดิมกลับทิศ นักลงทุนจึงควรเริ่มทำความเข้าใจ และคิดกลยุทธ์สำหรับการลงทุนในไตรมาสที่สองรวมถึงในอนาคตไว้ตั้งแต่ตอนนี้

US De-Exceptionalism เมื่อตลาดทุนอเมริกาที่เคยดีกว่าทุกที่ กลับกลายเป็นตลาดที่ไม่แน่นอน

ในอดีต ตลาดทุนสหรัฐถูกมองว่าพิเศษกว่าประเทศอื่นเสมอ ทั้งด้านเศรษฐกิจ นวัตกรรม และตลาดทุน แนวคิดนี้ถูกเรียกรวมว่า US Exceptionalism นักลงทุนทั่วโลกเชื่อมั่นในดอลลาร์และหุ้นสหรัฐมากกว่าตลาดอื่นมาหลายทศวรรษ

แต่ปี 2025 ความแน่นอนนี้ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง จากนโยบายกีดกันการค้า เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้คู่ค้าทั่วโลก มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการทำธุรกิจกับสหรัฐ ธุรกิจเทคโนโลยีอาจถูกแบ่งขั้ว ไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ทั่วโลกเหมือนก่อน และกำแพงภาษีสร้างความเสี่ยงเงินเฟ้อสูง ทำให้ดอลลาร์ไม่ใช่ Safe Asset ในช่วงตลาดหุ้นปรับฐาน

เมื่อเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว จีนสร้าง AI มาแข่งขันด้านเทคโนโลยีได้ ยิ่งหนุนให้ตลาดมองว่าสหรัฐอาจไม่ใช่ศูนย์กลางการเติบโตของโลกในอนาคต

ในมุมมองของผม De-Exceptionalism เป็นความไม่แน่นอนแรก และมีความเสี่ยงสูงที่สุด กลยุทธ์รับมือเบื้องต้น คือกระจายการลงทุนไปในหุ้นนอกสหรัฐ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย พร้อมกับการถือทองคำเพื่อรับมือกับการอ่อนค่าของดอลลาร์

ความแน่นอนที่สองที่ว่า ตลาดยุโรปจะทำผลตอบแทนแย่กว่าสหรัฐ อาจกลายเป็นไม่แน่เสมอไป เมื่อมีนโยบาย Re-Arm Europe เกิดขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันของสหรัฐผ่าน NATO ทำให้นานาประเทศในยุโรปเริ่มตระหนักว่าสหรัฐอาจไม่ใช่พันธมิตรที่พึ่งพาได้เหมือนก่อน

ความไม่แน่นอนที่สหรัฐสร้างขึ้นนี้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเยอรมนีอนุมัติงบลงทุนขาดดุลสูงสุดในรอบหลายสิบปี ตามมาด้วยฝรั่งเศส และอิตาลีที่เตรียมเพิ่มงบกลาโหม ผ่อนคลายกฎงบประมาณสมดุล และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคง

แม้ปัจจุบันอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าตลาดหุ้นยุโรปจะสามารถพลิกตัวกลับเป็นตลาดที่ทำผลตอบแทนเด่นแซงหน้าสหรัฐในระยะยาวได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นการปิดจุดอ่อนที่เคยพึ่งพาสหรัฐมากเกินไปในอดีต และเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคตด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่

สำหรับกลยุทธ์รับมือกับความไม่แน่นอนที่สอง ตรงไปตรงมาคือการลงทุนในหุ้นที่ปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจยุโรป เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนเฉพาะเจาะจงไปที่ธุรกิจ Aerospace & Defense ที่คาดว่าจะกลายเป็นธีมลงทุนสำคัญของยุโรปเพื่อตอบโต้ความไม่แน่นอนในอนาคต

ต่อมา ความแน่นอนว่าเทคโนโลยีสหรัฐเหนือกว่าทั่วโลกกำลังกลายเป็นไม่แน่นอนไปด้วย เมื่อสหรัฐกดดันจีนจนปลุกให้เกิด AI ระดับเดียวกับสหรัฐได้สำเร็จ

นักลงทุนทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง หลังการเปิดตัวโมเดล AI DeepSeek R1 พร้อมกับการที่รัฐบาลจีนออกหน้าสนับสนุนภาคเอกชนที่เติบโตจากธุรกิจ AI

กลุ่ม Tech ยักษ์ใหญ่ใน H-share และ A-share ก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI, Semiconductor, และ Cloud Infrastructure

แม้ในปีนี้จีนยังคงเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อย่างน้อยภาคเอกชนก็มองเห็นหนทางที่ควรลงทุน เพื่อแข่งขันกับธุรกิจระดับโลก

ในมุมมองของผม ถ้าบริษัทเทคโนโลยีฝั่งสหรัฐ ไม่สามารถรักษาความได้เปรียบอย่างแน่นอนไว้ได้ ความผันผวนจะเกิดขึ้นทันที โลกเทคโนโลยีจะแบ่งเป็นสองขั้ว (สหรัฐและจีน) กลายเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของหุ้นจีนครั้งใหญ่ในทศวรรษที่จะถึง

การลงทุนสำหรับความไม่แน่นอนนี้ มักมีคำถามยอดฮิตตามมาว่า “ควรถือหุ้น H-share ต่อ หรือหมุนไป A-share ได้แล้ว”

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์อาจมีความซับซ้อนมากกว่าธีมข้างต้น เพราะต้องคำนึงถึง Valuation ที่สูงหรือต่ำเกินไปเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

ระยะสั้นการเก็งกำไรหุ้น AI ใน H-share ด้วยความระมัดระวังจึงเป็นคำตอบ ส่วนในระยะยาว ผมมองว่าการสะสมหุ้น A-share ที่คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรจากแรงหนุนจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนจะเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจที่สุด

และสุดท้าย ความแน่นอนว่าดอลลาร์มีดอกเบี้ยที่สูงจึงต้องแข็งค่ากว่าสกุลดอกเบี้ยต่ำ กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งความไม่แน่นอน

ตัวอย่างสำคัญของนักลงทุนไทยแน่นอนว่าเป็น “เงินบาท”

ในปีปกติที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีสงครามการค้า เงินบาทที่เป็นแค่ Emerging Currency และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าสหรัฐราว 2% ควรอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ แต่ในปีนี้เงินบาทกลับทรงตัวได้ แม้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และตลาดหุ้นยังไม่ฟื้น แต่กลายเป็นว่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากทองคำ และการอ่อนค่าของดอลลาร์เข้ามาหักล้าง

สำหรับนักลงทุนไทย ควรมองเป็นจังหวะดีที่เงินบาทไม่อ่อนค่า เป็นโอกาสที่จะลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ บนต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป

โดยสรุป ผมมองว่าความไม่แน่นอนในปี 2025 คือความแน่นอนที่นักลงทุนต้องยอมรับ แต่ถึงโลกการเงินจะคลุมเครือด้วยความไม่แน่นอนหลายด้าน ถ้านักลงทุนพร้อมเปิดใจรับ “ความแน่นอนใหม่” และกล้าบริหารความเสี่ยง ผลเชื่อว่าเรายังสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้

เหมือนที่นักลงทุนระดับโลก Howard Marks กล่าวไว้ว่า “Markets don’t dislike uncertainty. They dislike being unprepared.”

ตลาดไม่ได้เกลียดความไม่แน่นอน แต่ไม่ชอบที่ไม่ได้เตรียมตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image