พณ. วิเคราะห์ความเสี่ยงส่งออกไทย จากนโยบาย สหรัฐฯต้องมาก่อน จับตาทรัมป์ประกาศ 2 เม.ย.
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกของไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ท่ามกลางความเสี่ยงของบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลก จากผลกระทบของนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยหนุนจาก การย้ายฐานการผลิตและส่งออกสินค้าของบริษัทต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ รวมทั้งโอกาสการส่งออกสินค้าทดแทนประเทศที่มีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน อีกทั้งยังมีอานิสงส์จากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกระแสความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับมาตรการผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ปัจจัยสนับสนุน
1. การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งมีปัจจัยหนุนสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ทยอยลดลง หลังจากที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก มีทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอุปสงค์สินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น
2. ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลก จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอน และยังอาจได้ปัจจัยหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ผันผวนและไม่เพียงพอจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนในบางช่วง
3. ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการเติบโตของธุรกิจ Data Center ที่ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
4. อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติจากเพื่อลดผลกระทบนโยบายกีดกันทางการค้า การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้ยังคงมีความต้องการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มเติม ส่งผลดีต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่จีนมีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว PCA และของเล่น เป็นต้น อาทิ โซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ แผงวงจรพิมพ์
5. มาตรการผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ตาม 10 นโยบายผลักดันการส่งออกไทยปี 2568 เช่น การสร้างความพร้อมของไทยในด้านการค้าและการลงทุน การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ และพร้อมที่จะเดินหน้าทำ FTA กับทุกประเทศ ตลอดจนเน้นการโปรโมตสินค้าและบริการตามนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่โลก
ปัจจัยกดดัน
1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจสร้างความผันผวนต่อราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือและห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจนำมาซึ่งการตั้งกำแพงภาษีหรือนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกันและระหว่างชาติพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนบทบาทจากการรวมกลุ่มของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น BRICS อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของหลายประเทศทั่วโลก
2. ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ โดยไทยมีโอกาสที่จะเผชิญภาวะลานีญาต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัย ส่งผลกระทบเชิงพื้นที่และห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีอุณหภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจนอาจทำให้เผชิญกับภาวะภัยแล้ง กระทบผลผลิตสินค้าเกษตร
3. ปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวลดลง จากผลกระทบการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและ การลงทุนของหลายประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่จะกระทบบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ประเมินว่า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะกระทบการค้าโลกรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นของตลาดการเงินโลก โดย ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทั้งนโยบายภาษีและมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการส่งออกในรูปเงินบาท และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออก
เหตุการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ปี 2568 จับตาความเสี่ยงการส่งออกไทย จากนโยบายการค้า “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน”
ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ในสมัยที่ 2 หรือยุคทรัมป์ 2.0 ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐบาลกลางดำเนินการตามกรอบทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน (America First Trade Policy)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการปกป้องผลประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจ แรงงาน และความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยหนึ่งในคำสั่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศคือ การออกบันทึกการค้า (Trade Memorandum) ที่ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประเมินสาเหตุการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ เผชิญมาอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายการบิดเบือนค่าเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขหรือพิจารณานโยบายตอบโต้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เมษายน 2568 และบันทึกของประธานาธิบดี (Presidential Memorandum) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนหรือแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าหรือใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) กับสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ได้เร็วที่สุดในวันที่ 2 เมษายน 2568
ความเสี่ยงของไทย ไทยมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะถูกสหรัฐฯ ตรวจสอบในประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายกรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรม จากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในระดับสูงรวมไปถึงการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง โดยภาคการส่งออกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ดังนี้
(1) การถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ความพยายามในการลดขาดดุลทางทางการค้าด้วยมาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า อาจทำให้ไทยซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตกเป็นเป้าหมายในการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยในปี 2567 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ทั้งหมด อยู่ที่ 45,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 40,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าของไทยที่มีความเสี่ยงถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มสินค้าที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่อง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แผงโซลาร์ ยางรถยนต์ หม้อแปลงไฟฟ้า วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีนำเข้า
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
สินค้าประเภทอื่น อีกทั้งยังมีมาตรการควบคุมการนำเข้าและมาตรฐานด้านความปลอดภัยซึ่งอาจถูกสหรัฐมองว่าเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีแบบ Reciprocal Tariff
(2) การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (AD/CVD) ในระดับเข้มข้นมากขึ้น โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ มีสินค้าจากไทยที่ถูกไต่สวนภายใต้มาตรการ AD/CVD ในหลายประเภทสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ แผงโซลาร์ และเคมีภัณฑ์
(3) การถูกจับตามองในฐานะประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ การที่ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ ขณะที่ขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นโดยตลอด ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเป็นการบ่งชี้ได้บางส่วนว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนเข้ามาในไทยเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน โดยอาศัยไทยเป็นทางผ่านส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Rerouting) ทำให้สินค้าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในแผงโซลาร์ ที่ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ภายใต้มาตรการการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD (Anti-circumvention: AC) ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นจากการต้องพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และยังส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้การลงทุนจากจีนชะลอตัวหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น
(4) บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่ย้ายฐานการผลิตมาในไทยอาจถูกจับตา เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ ไปยังต่างประเทศของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ และส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐฯ จำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงอาจทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกหรือลดการให้ผลประโยชน์กับบริษัทดังกล่าวเพื่อดึงดูดการลงทุนและใช้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกแทน ตามนโยบายการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ดังนั้น การส่งออกของไทยไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกจากบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
แนวทางการรับมือกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ เตรียมความพร้อมและวางกลยุทธ์ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ในลักษณะต่างตอบแทน ที่มีเป้าหมายในการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเน้นสินค้าที่ไทยและสหรัฐฯ ต่างได้ประโยชน์และสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิตซึ่งกันและกันได้ พร้อมทั้งเตรียมแนวทางรองรับกรณีที่สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ไทยนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงหรือยังไม่ได้เปิดตลาดกับสหรัฐฯ เช่น ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดในประเทศให้รอบด้าน รวมทั้งการหาแนวทางหรือวิธีการตรวจสอบและพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐฯ ในกรณีสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับจีน
ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนตลาดการส่งออกการย้ายฐานการผลิตของประเทศต่างๆ ของประเทศคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย พร้อมทั้งต้องเร่งปรับตัวด้วยการกระจายตลาดส่งออกและแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ เช่น ตลาดเอเชียใต้ ลาตินอเมริกา แอฟริกา รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่หลากหลาย เพื่อสร้างความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการถูกใช้มาตรการทางการค้า ตลอดจนการปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศอย่างแท้จริง