คลังออกมาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว คปภ.เร่งตรวจสอบอาคารสตง. ธปท.ผ่อนเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำกว่าปกตินาน 12 เดือน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแถลงการณ์ของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมีมาตรการที่สำคัญของกระทรวงการคลัง สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ดังนี้
นายพรชัยกล่าวว่า 1.มาตรการขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกรมบัญชีกลางได้ขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงาน
นายพรชัยกล่าวว่า 2.มาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
นายพรชัยกล่าวว่า โดยมุ่งไปที่การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้วยการพักหรือลดการชำระหนี้และดอกเบี้ยระยะสั้น 3 เดือน-1 ปี ของลูกค้าบุคคล สินเชื่อบ้าน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) พร้อมทั้งมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง และสินเชื่อเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งรายละเอียดตามแต่ละสถานบันการเงินกำหนด โดยติตามได้ที่ช่องทางของแต่ละธนาคาร
นายพรชัยกล่าวว่า 3.มาตรการด้านการประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประสานไปยังสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยทุกบริษัท เพื่อเร่งติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ตลอดจนพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ คปภ. ยังได้เปิดบริการสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อให้คำปรึกษาผู้เอาประกันภัยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง
นายพรชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ สูงราว 30 ชั้น ในพื้นที่เขตจตุจักร กทม. ได้มีการถล่มขณะที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น คปภ. ได้เข้าพื้นที่ประสบภัย พร้อมบริษัทประกัน 4 บริษัทเพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ และอยู่ระหว่างประสานขอรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้สูญหายเพื่อค้นหาในระบบฐานข้อมูลของ คปภ. พร้อมแจ้งให้บริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลืออย่างดีที่สุด และคปภ. อยู่ระหว่างการตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง เบื้องต้นทราบว่ามีการประกันภัยต่อไปยังบริษัทต่างประเทศ ทำให้ไม่กระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
นายพรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ดังนี้ 1.ปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ให้ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนดได้ สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน 2.พิจารณาให้วงเงินชั่วคราวฉุกเฉินที่ 3.พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อซ่อมแซม ที่อยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบอาชีพ 4.สามารถคงสถานการณ์ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือและยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไว้ตามเดิมก่อนเกิดเหตุสาธารณภัยได้
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้ประชาชน นักลงทุน และผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และหน่วยงานภาครัฐพร้อมดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้าเป็นลำดับในโอกาสต่อไป