ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงของประเทศ ถือเป็นโรคร้ายที่เรื้อรังมานาน หลังจากวิกฤตใหญ่อย่างโควิดจนถึงขณะนี้ หนี้ครัวเรือนไทยคงอยู่ระดับ 90% มาโดยตลอด
ข้อมูลล่าสุดของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุ หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อยู่ที่ 16.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) โดยจำนวนเงินลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 0.03% หรือเรียกว่าในระดับทรงตัว เนื่องจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น
สำหรับหนี้ครัวไทยย้อนไปปี 2564 อยู่ที่ 15.32 ล้านล้านบาท สัดส่วน 94.6% ต่อจีดีพี ปี 2565 อยู่ที่ 15.62 ล้านล้านบาท สัดส่วน 91.6% ต่อจีดีพี ปี 2566 อยู่ที่ 16.39 ล้านล้านบาท สัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพี ก่อนที่จะเริ่มลดลงเล็กน้อยในปี 2567 โดยไตรมาสที่ 1 อยู่ที่16.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ต่อจีดีพี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 16.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.9% ต่อจีดีพี
⦁ มาตรการแก้หนี้ยังจี้ไม่ตรงจุด
ที่ผ่านมารัฐบาลได้หยิบยกเรื่องของหนี้ครัวเรือนขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ เป็นนโยบายที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เพราะจากภาวะหนี้ครัวเรือนสูงทำให้เห็นว่าภาระการชำระหนี้ได้บั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเองก็เติบโตต่ำมาต่อเนื่อง
ปัจจุบันมาตรการด้านการแก้ไขหนี้ยังดำเนินการอยู่ คือโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐรวมไปถึงผู้ให้บริการทางด้านการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์)
ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้รายย่อย ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอล หรือหนี้เสีย ในกลุ่มสำหรับสินเชื่อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 8 แสนบาทสินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่เกิน 5 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และ “พักภาระดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะ “ได้รับการยกเว้น” ตามเงื่อนไข
สำหรับกลุ่มนอนแบงก์ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาท หรือไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละแห่ง สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาท และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท ที่ติดสถานะเอ็นพีแอลตามเงื่อนไขที่กำหนด จะลดภาระผ่อนชำระ 3 ปี เหลือเพียง 70% และลดดอกเบี้ยให้ 10% ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยพักดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้ และ “ยกเว้นให้เลย” หากลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขได้
และ 2.มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เอ็นพีแอลไม่เกิน 5,000 บาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที
จากข้อมูลล่าสุดนั้นมีหนี้ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิแล้ว 1.05 ล้านราย เป็นจำนวน 1.3 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราย 30% ของผู้มีสิทธิร่วมโครงการ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประมาณการว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” วันที่ 30 เมษายนนี้จะมีผู้มีสิทธิเข้ามาร่วม 50%
⦁โยกขายหนี้ตัดเนื้อร้าย35%
คำถามคือ กลุ่มผู้มีสิทธิอีก 50% หายไปไหนนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ กลุ่มที่หายไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน คือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ที่ส่วนใหญ่ธนาคารติดต่อไม่ได้ คาดว่าบางส่วนไม่รับสายจากธนาคารเพราะกังวลเรื่องมิจฉาชีพปลอมเป็นคอลเซ็นเตอร์
เพราะฉะนั้น กระทรวงการคลังจึงจะสานต่อมาตรการการแก้หนี้ โดยพุ่งเป้าหมายไปที่หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตในกลุ่มที่มูลหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายนั้น คิดเป็นสัดส่วน 35% ของหนี้เอ็นพีแอลที่มีอยู่ทั้งระบบในปัจจุบัน หากสามารถจัดการหนี้เหล่านี้ได้ก็เท่ากับลดปัญหาหนี้ออกไปได้ 35%
โดยกระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาการแก้ไขหนี้เอ็นพีแอลที่ไม่มีหลักทรัพย์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต กลุ่มมูลหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการขยายเวลามาตรการแก้หนี้แบบคุณสู้ เราช่วย หรืออาจจะเป็นการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยการขายออกไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และให้ลูกหนี้ไปประนอมหนี้ต่อได้ โดยจะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะรอช้าไม่ได้ ซึ่งอยากจะดำเนินการให้เร็วก่อนเข้าสู่ไตรมาส 3
สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการร่วมมือของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ที่น่าจับมองคือบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (ARI-AMC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของออมสิน เป็นผู้รับซื้อหนี้แอลพีแอล ซึ่งคาดว่าไม่น่ารับซื้อได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสว่ารัฐบาลจะจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อทำให้ดำเนินงานได้ง่ายขึ้น เพราะการขายหนี้แอลพีแอลนั้น ต้องมีแรงจูงใจด้านราคาด้วย เพื่อให้ธนาคารสนใจเข้าร่วม
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร รายงานข้อมูลสถานการณ์หนี้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบระบบหนี้ครัวเรือนทั้งหมดนั้นพบหนี้เสีย หรือหนี้เอ็นพีแอล อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท
โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 23.6% ของเอ็นพีแอลทั้งหมด รองลงมาคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 21.3% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น19.5% สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.6% สินเชื่อบัตรเครดิต 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.8% สินเชื่อเพื่อการเกษตร 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.7%
โดยหนี้เอ็นพีแอลทุกชนิดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกไตรมาสตลอดปี 2567 ยกเว้นหนี้เอ็นพีแอลหนี้เกษตรกร
⦁ปชช.หนุนขายหนี้ล้างเครดิต
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หรือสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเฉพาะประชาชนที่มีหนี้สินต่อกรณี “ซื้อหนี้ แก้ปัญหาให้ประชาชน” กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีหนี้สิน จำนวน 1,153 คน โดยทำการสำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2568 พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีหนี้ในระบบ (สถาบันการเงิน ธนาคาร บัตรเครดิต) มากที่สุด 51.60% ขณะที่มีหนี้นอกระบบ (เงินกู้นอกระบบ เจ้าหนี้ส่วนตัว) มี 29.75% และมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 18.65%
กรณีแนวคิดที่จะซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคารให้ผ่อนชำระใหม่แบบลดภาระ และล้างเครดิตบูโรโดยไม่ใช้เงินของรัฐ กลุ่มตัวอย่างที่มีหนี้นั้นเห็นด้วย 62.19% เพราะช่วยรวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่เดียว ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยให้คนที่มีหนี้สบายใจขึ้น ไม่เครียด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เสียประวัติทางการเงิน และไม่เห็นด้วย 37.81% เพราะไม่แน่ใจเรื่องความโปร่งใส อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้คนขาดวินัยทางการเงินและกู้เพิ่ม อาจกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อการเงินของประเทศในอนาคต
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำรายงานเรื่องแนวคิดของภาครัฐในการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อซื้อหนี้เสียออกจากระบบ โดยเฉพาะหนี้อุปโภคบริโภคของลูกหนี้รายย่อยที่เครดิตบูโร ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567 มีจำนวน 9.59 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 ล้านล้านบาทนั้น สะท้อนการตระหนักของภาครัฐเกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหาหนี้เสียที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
หากเทียบกับกรณีที่คล้ายคลึงกันของไทยคือ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่มีหนี้เสียสูงอย่างรวดเร็วถึง 52.3% ของสินเชื่อรวมในเดือนพฤษภาคม 2542 หรือราว 2.5 ล้านล้านบาท อันเกินกว่ากำลังของระบบสถาบันการเงินจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้นนั้น ทำให้เกิดการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐตามมาตั้งแต่ปี 2540-2541 จนมีจำนวนกว่า 10 แห่ง เพื่อซื้อหนี้จากธนาคารแม่แยกออกไปบริหารจัดการเฉพาะ
ต่อมาจึงมีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หรือ TAMC ในปี 2544 เพื่อซื้อหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงปลายวิกฤตดังกล่าว ประมาณ 7.8 แสนล้านบาท จากสถาบันการเงินไปบริหารเพื่อฟื้นฟูและ/หรือปิดจบหนี้
แม้จุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดตั้ง AMC ทั้งในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและในครั้งนี้มีความเหมือนกันตรงที่การมุ่งแยกหนี้เสียออกจากระบบ แต่กลับอยู่บนเงื่อนไขของเศรษฐกิจการเงินที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตปี 2540 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตมีความชัดเจน ได้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนเห็นภาพรายได้ที่ดีขึ้น
⦁เอกชนห่วงเสียวินัยการเงิน
ขณะที่ปัญหาในรอบนี้แตกต่างออกไป นั่นคือหนี้เอ็นพีแอลทั้งธุรกิจและรายย่อยจำนวนไม่น้อยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือจากทั้งธนาคารพาณิชย์และทางการ สถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงทำให้ปัจจัยด้านรายได้ของธุรกิจและครัวเรือนไม่ชัดเจน ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จในการแก้ไขหนี้ นอกจากนี้ ตลาดการบริหารหนี้ก็มีความท้าทายมากขึ้นจากการที่หนี้ที่ไหลเข้ามาในระยะหลัง แก้ยากขึ้น
อีกทั้งการระบายทรัพย์สู่ตลาดตามกระบวนการทางกฎหมายก็น่าจะใช้เวลาเช่นกัน ท่ามกลางผู้ซื้อและอำนาจซื้อที่จำกัด ดังนั้น แนวคิดในการจัดตั้ง AMC ในรอบนี้จึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปข้างต้นด้วย เพื่อออกแบบรูปแบบธุรกิจและกลไกการจัดการให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่
1.เป้าหมายการแก้หนี้ที่เน้นหนี้รายย่อย จะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการหนี้สูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากจำนวนบัญชีรายย่อยที่เครดิตบูโร มีจำนวนกว่า 9 ล้านบัญชี
2.ปัญหาวินัยทางการเงิน หรือ Moral Hazard ของลูกหนี้ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า การขายหนี้ให้ AMC บริหาร ลูกหนี้มีโอกาสได้รับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ที่แตกต่าง หรือผ่อนปรนกว่าเดิม อาจกระตุ้นให้ลูกหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาเลือกปฏิเสธการจ่ายหนี้และกลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น ซึ่งจะกลับมาทำให้เจ้าหนี้ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อระบบการเงินโดยรวม
สุดท้าย การจัดตั้ง AMC จะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของระบบการเงินไทยในรอบนี้เพียงใดคงขึ้นกับการออกแบบรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ทั้งรูปแบบการจัดตั้ง แหล่งเงินทุน ราคาซื้อหนี้ เงื่อนไขส่วนแบ่งผลขาดทุนหรือกำไรจากการบริหารหนี้
ตลอดจนระยะเวลาของโครงการว่าจะปิดตัวเพื่อบริหารหนี้จากการซื้อตามโครงการที่กำหนดเสร็จสิ้น หรือจะเป็น AMC ที่รับซื้อหนี้อย่างต่อเนื่องเหมือนที่ดำเนินการอยู่จำนวนมากถึง 87 แห่งในปัจจุบัน เพราะจะมีผลต่อความร่วมมือในการขายหนี้ ผลกระทบต่อลูกหนี้ และเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
ลุ้นกันต่อไปว่าการเดินหน้าแก้หนี้ จะช่วยหนี้ครัวเรือนไทยพ้นวิกฤตได้จริง
หรือกลายเป็นเพียงบทเรียนหนึ่งไว้ดูต่างหน้า!!