นโยบายส่งเสริมยานยนต์แห่งอนาคตของไทย

ถ้าพูดถึง “ยานยนต์แห่งอนาคต” คุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงนึกถึงรถไฟฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา ในช่วง 2-3 ปีนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจนึกถึงรถยนต์ไร้คนขับ ที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย มีระบบอัตโนมัติฉลาดๆ สามารถควบคุมการขับขี่ด้วยคำพูด ในขณะที่ผู้อ่านบางท่านอาจจินตนาการไปไกลถึงรถยนต์ที่สามารถวิ่งบนถนนก็ได้ ลอยบนน้ำก็ได้ หรือบินแบบนกก็ได้ (เหมือนในหนังสายลับ 007)

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาครัฐซึ่งได้กำหนดนโยบายส่งเสริม “ยานยนต์แห่งอนาคต” จะหมายถึง ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Driven Vehicles : xEV) ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งรถไฟฟ้า (Electrical Vehicles : EV) ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและ CO2 เลย หรือรถไฮบริดที่มีมอเตอร์มาช่วยขับเคลื่อนรถร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก
ที่เป็นรถไฮบริดแต่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ หรือรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง

โดยยานยนต์เหล่านี้ นอกจากจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยสารมลพิษและ CO2 แล้ว ยังมาพร้อมกับอุปกรณ์/ระบบที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงานและเพิ่มสมรรถนะด้านความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารอีกด้วย

ADVERTISMENT

⦁ทำไมภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมรถไฟฟ้า (EV)
ทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกมุ่งสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) เนื่องจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน และช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อน/โลกเดือด ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมานิยมใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลในหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมรถไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ทั้งการให้เงินอุดหนุน การให้สิทธิพิเศษที่ไม่ใช่ตัวเงิน การบังคับใช้รถไฟฟ้าในเขตตัวเมือง จึงส่งผลให้ความต้องการรถไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์และความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็น Product Champion ของไทย ได้แก่ รถปิกอัพ 1 ตัน รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) โดยยานยนต์เหล่านี้ล้วนใช้เครื่องยนต์ทั้งสิ้น (อาจจะมีส่วนผสมของรถไฮบริดบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย)

ADVERTISMENT

ดังนั้น เพื่อมิให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตกขบวนหรือล้าหลังในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงต้องดำเนินนโยบายสร้างฐานการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศอย่างเร่งด่วน

ท่านผู้อ่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ภาครัฐได้ชี้นำทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่รถไฟฟ้ามาก่อนหน้าแล้ว ผ่านโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์ซึ่งจัดเก็บตามอัตราการปล่อย CO2 และระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน โดยรถไฟฟ้าจะจ่ายภาษีสรรพสามิตเพียง 10% (เป็นอัตราภาษีต่ำที่สุดในกลุ่มของรถยนต์นั่ง)

ต่อมา ในปี 2560 รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริม “ยานยนต์แห่งอนาคต” ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industry) ภาครัฐจึงได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ทุกประเภท พร้อมกับการลงทุนผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าสำคัญ (เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น) และการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า

หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมรถไฟฟ้าของรัฐบาล รวมทั้งได้ออกมาตรการสนับสนุน/ส่งเสริมรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การใช้ และโครงสร้างพื้นฐาน

โดยมาตรการที่สำคัญ ประกอบด้วย มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถไฟฟ้า (เพิ่มเติม) เหลือ 2% มาตรการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนไฟฟ้าสำคัญ 9 รายการ และมาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า (EV3.0 และ EV3.5) ด้วยการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ซื้อรถไฟฟ้า

มาตรการเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการผลิตรถไฟฟ้า (รถยนต์นั่ง) จำนวน 21 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 40,000 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 410,000 คันต่อปี โดยปัจจุบันนักลงทุนได้เริ่มประกอบรถไฟฟ้าในประเทศแล้ว อย่างน้อย 7 ราย ในขณะเดียวกันตัวเลขการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 135,000 คัน

จึงถือได้ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายสร้างฐานการผลิตรถไฟฟ้าในช่วงเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้ระยะเวลา

⦁แล้วรถยนต์ประเภทอื่น (ที่ไม่ใช่รถไฟฟ้า) จะไปต่ออย่างไร
ผู้อ่านหลายท่านเข้าใจว่า ในปัจจุบันรัฐบาลให้การส่งเสริมเฉพาะรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจรถยนต์ประเภทอื่นเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าในปี 2573 เพียง 30% ของการผลิตทั้งหมดเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเป้าหมายเป็น 100% หรือออกนโยบายห้ามผลิตยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เหมือนกับบางประเทศในสหภาพยุโรปแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศในสัดส่วนที่สูง และรายได้จากการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงต้องการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่รัฐบาลจะทุบหม้อข้าวตัวเอง โดยการไม่ให้การสนับสนุนยานยนต์กลุ่มนี้

ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฮบริดขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านฐานการผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด และเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประกอบด้วย โรงงานประกอบรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมต้นน้ำ (เช่น เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติกและปิโตรเคมี ยาง และแม่พิมพ์และดายน์) และแรงงานจำนวนมากกว่า 700,000 คน ให้สามารถเติบโตหรืออยู่รอดให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้

โดยหวังว่า อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ จะต้องเป็นเหมือนดั่งบริษัท Fuji หรือ Sony ในกรณีการเปลี่ยนแปลงจากการถ่ายรูประบบฟิล์มมาเป็นระบบดิจิทัล โดยต้องไม่เป็นเหมือนบริษัท Kodak หรือ Polaroid ซึ่งต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และไม่พยายามปรับตัว ทำให้ต้องปิดตัวไป

โดยสรุป ภาครัฐมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนผลิตยานยนต์ ในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนายานยนต์โลก ในขณะที่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลไกตลาด จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่า ยานยนต์แห่งอนาคตที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยจะเป็นประเภทใด

ระหว่างรถไฟฟ้า หรือรถยนต์เครื่องยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image