พบเหล็ก ตึกสตง.ถล่ม เป็นของ ซินเคอหยวน บริษัทดังที่เคยถูกอายัด เพราะไม่ได้มาตรฐาน
จากกรณีโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ สูง 34 ชั้น ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ เกิดถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม ท่ามกลางการตั้งคำถามของประชาชนถึงโครงสร้าง และ เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างครั้งนี้ว่าได้มาตรฐานหรือไม่
โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุ และเก็บวัสดุตัวอย่างไปสอบสวนหาสาเหตุ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่พบเหล็กทั้งหมด 6 ประเภท ทั้งเหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 อัน, เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 อัน, เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 3 อัน, เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 4 อัน, เหล็กกลม 2 อัน ขนาด 9 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียว แต่ว่ามีเหล็กบางประเภท (32) ที่มาจากผู้ผลิต 3 ยี่ห้อ อย่างไรก็ตามมีเหล็กอีกประเภทหนึ่งที่ยังหาไม่พบในเบื้องต้น และยังไม่เหมาะกับการรื้อหาเพราะอาจกระทบต่อการกู้ภัย
นายเอกนัฏ ยังได้ระบุว่า ทั้งนี้ถ้าพบว่าเหล็กที่มีปัญหามาจากผู้ผลิตรายใด ก็จะต้องสั่งให้โรงงานหยุดปรับปรุง ไปจนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต มอก. และจะไม่สามารถนำเหล็กไปจำหน่ายได้ ต้องเรียกคืนเหล็กทั้งหมด และถูกดำเนินคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหล็กที่ใช้ในบริษัทดังกล่าว เป็นเหล็กของบริษัท ซินเคอหยวน จำกัด ที่ระยอง ซึ่งเคยถูกสั่งปิดไปแล้ว
ทั้งนี้ บริษัท ซินเคอหยวน จำกัด นั้น เป็นผู้ผลิตทั้งเหล็กเส้น เหล็กลวด รวมถึงเหล็กแผ่นรายใหญ่ของจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน เป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้ตลาดเหล็กในประเทศตกต่ำ ด้วยการแย่งส่วนแบ่งตลาด และแข่งขันด้วยราคาที่ถูก จนทำให้บริษัทไทยหลายแห่งต้องปิดตัวลง
โดยเมื่อปลายปี 2566 การเลิกจ้างคนงานของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กทรงยาว เหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้าง ที่ใช้ในงานก่อสร้าง และยังเป็น 1 ใน 4 เจ้าของธุรกิจบิลเลตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อายุกว่า 60 ปี ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนสะสม จนต้องปิดกิจการลงอย่างน่าเสียดาย
ซินเคอหยวน ที่กำลังตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน รวมไปถึงเหล็กรีดเย็น และเหล็กเคลือบทรงแบนแห่งใหม่ 5,600,000 ตัน/ปี ที่มีไลน์การผลิตยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ จ. ปราจีนบุรี รวมกับกำลังการผลิตเดิมของซินเคอหยวน คือเหล็กลวดและผลิตภัณฑ์ประมาณ 2,800,000 ตัน/ปี เหล็กเส้นข้ออ้อยประมาณ 132,000 ตัน/ปี เหล็กเส้นกลมประมาณ 66,000 ตัน/ปี ทำให้ซินเคอหยวนขึ้นแท่นเบอร์ 1 ทันที ด้วยกำลังการผลิตรวมทั้งหมดสูงถึง 8,600,000 ตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม 2567 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของซินเคอหยวนใน จ.ระยอง ที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 และกำหนดเสร็จ 2569 ได้เกิดอุบัติเหตุ ปั้นจั่นหอสูงกว่า 20 เมตรถล่มลงมาทับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่างเสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย และยังมีการเรียกร้องสิทธิการจ่ายเงินเยียวยาจากการเสียชีวิตดังกล่าว
ต่อมา 18 ธันวาคม 2567 ซินเคอหยวนสตีล ที่ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เกิดเหตุระเบิดจากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย สาเหตุพบว่ามีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ถูกปรับเงิน 50,000 บาท
ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมส่งตรวจสอบระบบไฟฟ้า สภาพอาคารภายในโรงงาน พร้อมให้หยุดประกอบกิจการ 30 วัน และแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองร่วมตรวจสอบ ก่อนพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกครั้ง
10 มกราคม 2568 หลังจากชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว ได้อายัดเหล็กไว้เพื่อตรวจสอบ ก็ได้เปิดเผยผลตรวจเหล็กข้ออ้อย พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญ ที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก
ยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อป้องกันอันตราย
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจาก สมอ. จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ เหล็กเส้นกลม มอก. 20-2559, เหล็กข้ออ้อย มอก. 24-2559 ชั้นคุณภาพ SD 40 และชั้นคุณภาพ SD 50 ซึ่งจากการทดสอบ เหล็กข้ออ้อย โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
ปรากฏว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2 รายการ คือ ในรายการส่วนสูงของบั้งที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลง เมื่อนำไปใช้งาน และรายการธาตุโบรอน มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด
โดย ยังได้แจ้งเตือนให้บริษัทแก้ไขกระบวนการผลิตในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นจะสั่งพักใบอนุญาต และ อายัดเหล็กข้ออ้อยขนาด 16,25 และ 32 มิลลิเมตร รุ่นการผลิตช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.67 รวมทั้งจะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรายนี้ให้ถึงที่สุด โทษฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งสั่งให้บริษัทเรียกคืนเหล็กที่ได้จำหน่ายออกไปแล้วกลับคืนมา
สำหรับบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด นั้นมี นายเจี้ยนฉี เฉิน, นายสู้ หลงเฉิน และนายสมพัน ปันแก้ว เป็นกรรมการ
ครั้งนั้น น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยด้วยว่า จะดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยความผิดฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ความผิดฐานแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง