ศก.ไทย ก.พ.ชะลอตัว เหตุท่องเที่ยว-ภาคผลิตลด ธปท.ชี้ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบเหตุแผ่นดินไหว เผยปชช.ลงทะเบียนคุณสู้เราช่วยแล้ว 1.1 ล้านคน ผ่านคุณสมบัติ 4.5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ว่า ค่อนข้างชะลอลงจากเดือนก่อน (มกราคม) เนื่องจากจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไป ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.1 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.7 ล้านคน หรือลดลง 13.9%
“นักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียค่อนข้างลดลง โดยสาเหตุมาจากการเร่งกระตุ้นช่วงวันตรุษจีนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา รวมถึง ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยลดลงประกอบกับ เศรษฐกิจประเทศจีนค่อนข้างชะลอตัวลง เลยทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง“ นางปราณี กล่าว
นางปราณี กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจากสัญชาติอื่นยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งจากประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศรัสเซีย นอกจากนี้ ประกอบปัจจัย การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม และการ ลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.9% หลังเร่งไปในช่วงก่อน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ค่อนข้างชะลอลง
นางปราณี กล่าวว่า แม้การท่องเที่ยวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะชะลอลงแต่การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวด ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะมีค่า ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากทั้ง รายจ่ายประจําและลงทุนของรัฐบาลกลาง
นางปราณี กล่าวว่า สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของฐานสูงและ ราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และค่าโดยสารสาธารณะ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุล บริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลลดลงตามรายรับภาคการท่องเที่ยว ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน
นางปราณี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มระยะต่อไป แม้เดือนกุมภาพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการจะลดลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็คงยัฝต้องขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและบริการ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในบางหมวดยังคงได้รับแรงกดดัน จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันสูง รวมทั้งนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอน
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาระยะต่อไป คือ 1. ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2.พัฒนาการของภาคการผลิต 3. ผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก และ 4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นางปราณี กล่าวว่า สำหรับเหตุการณแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นั้น เร็วเกินกว่าที่จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่ากระทบกะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยมากน้อยแค่ไหน เนื่องจาก ต้องประเมินผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในหลายช่องทาง โดยเฉพาะการประเมินความเชื่อมั่น และ พฤติกรรมของประชาชนที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งก็คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นางปราณี กล่าวว่า ธปท. ได้มีโอกาสหารือกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางผู้ประกอบการส่วนมากแนะนำให้ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา แต่ในส่วนตัวเลขคงต้องรอการประเมินอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวค่อนข้างกังวลถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศในด้านความปลอดภัย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ แต่ผู้ประกอบการมองว่าต้องเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยกลับมาเช่นกัน
ทั้งนี้ นางปราณี กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อ ผู้ที่มีรายได้น้อยและหนี้ครัวเรือนสูง ดังนั้น ธปท. ได้ออกหนังสือเรียนกำชับธนาคารพาณิชย์ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้ รับผลกระทบ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปได้ด้วยดี
นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครอง และตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ความคืบหน้าโครงการ คุณสู้ เราช่วยนั้น ลูกหนี้ยังคงลงทะเบียนต่อเนื่อง เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว (28 มีนาคม 2568) มีลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งหมด 1.1 ล้านราย กลุ่มลูกหนี้ที่ลงทะเบียนสถาบันการเงินได้สำรวจและผ่านคุณสมบัติมีทั้งหมด 4.5 แสนราย โดยกลุ่มที่ทางสถาบันการเงินติดต่อได้เยอะและผ่านคุณสมบัติจะเป็นกลุ่มหนี้สิ้นเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย